“ธรรมศาสตร์-บ้านปูฯ” จัดออดิชั่น โครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2”

“ธรรมศาสตร์-บ้านปูฯ” จัดออดิชั่น โครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2”

เรียกว่าเป็นการเฟ้นหาผู้เข้ารอบจากทีมเยาวชนทั่วประเทศที่เข้มข้นจริงๆ สำหรับ โครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2”โดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)เพราะเมื่อเร็วๆ นี้  ณ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางโครงการฯ ต้อนรับเยาวชน 43 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจากผู้เข้าสมัครทั้งหมด132 ทีมสู่การนำเสนอแนวความคิดให้แก่คณะกรรมการโครงการฯ เพื่อคัดเลือก โดยระยะเวลาประมาณ 2 ปีจากนี้ ทีมเยาวชน 15 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เรียนรู้กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะด้านการเป็น นวัตกรรุ่นใหม่ รวมทั้งจุดประกายการเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมผ่านการออกแบบบอร์ดเกมที่มุ่งเน้นแก้ไขประเด็นสังคมในชุมชนของพวกเขาเอง


นางอุดมลักษณ์ โอฬารผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กรบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า “บ้านปูฯ มีความเชื่อว่า พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เราจึงเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน เพราะการเรียนรู้คือรากฐานสำคัญเพื่อพัฒนาคนซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน “โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม” มีวัตถุประสงค์อันสอดคล้องกับความเชื่อที่เรามุ่งมั่นยึดถือมาตลอด เราจึงยังคงดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่2เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำประเด็นทางสังคมในชุมชนที่ต้องการแก้ไขมาศึกษา และพัฒนานวัตกรรมที่ให้ทั้งความรู้และแก้ปัญหาเหล่านั้นผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ ผลงานบอร์ดเกมที่ออกมาถือเป็นเครื่องมือในการสร้างผลกระทบที่ดีทางสังคม (Social Impact) ได้ ทั้งในแง่การปลูกฝังวิธีการคิดในฐานะนวัตกรให้แก่ผู้ออกแบบ และการสร้างความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาให้แก่ผู้เล่นและสังคม”

ด้านรศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลีคณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า “จาก “โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม” รุ่นที่ผ่านมา ถือว่าเราประสบความสำเร็จในแง่การพัฒนานวัตกรรุ่นใหม่ หัวใจสำคัญของโครงการฯ ไม่ใช่การออกแบบบอร์ดเกมเท่านั้น แต่คือการสร้างการเรียนรู้ในห้องเรียน และชุมชน ในบริบทต่างๆ ตามที่พวกเราจะสร้างสรรค์ขึ้น โดยใช้บอร์ดเกมพัฒนา

ผู้เข้าร่วมโครงการ เราไม่ได้มุ่งสร้างแคมป์การแข่งขัน แต่เราใช้เวลาตลอด 2 ปี ในการบ่มเพาะพวกเขา  ใช้ความมุ่งมั่น ทุ่มเท จากไอเดียของเยาวชนทุกคน ซึ่งเรามีโร้ดแม็พจากการแข่งขันในครั้งก่อน มาเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการให้ได้ต้นกล้าที่เก่งและมีความสามารถในอนาคตอย่างแน่นอน ได้ผลลัพธ์คือเรื่องทักษะการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ซึ่งเป็นวิธีที่นักออกแบบใช้เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และเหมาะสมกับบริบทของปัญหา”  

บรรยากาศการออดิชั่นเต็มไปด้วยความสนุกและตื่นเต้น โดยทั้ง43 ทีม ต้องเตรียมข้อมูลประเด็นทางสังคมที่สนใจมาเสนอกับคณะกรรมการ โดยหนึ่งในคณะกรรมการ นายวัชรพงษ์  เหมือนพันธุ์หรือ คุณโด่ง นักพัฒนาบอร์ดเกม เล่าว่า “การตัดสินในรอบนี้ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะจากประเด็นทางสังคมที่แต่ละทีมเลือกมา ค่อนข้างน่าสนใจและมีความแตกต่างจากรุ่นที่1 ทำให้เราต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนมากๆ โดยเราให้ความสำคัญกับ 3 ด้าน คือ 1.)หัวข้อที่เลือกมามีความเกี่ยวข้องกับน้องๆ มากน้อยแค่ไหน 2.) ความเป็นไปได้ในการผลิตเกม ที่จะเกิดขึ้นได้จริง และที่สำคัญที่สุดคือ 3.) การนำเกมไปใช้ได้จริง ในชุมชน หรือบริบทแวดล้อม ซึ่งก็ต้องมีความสนุกพร้อมให้ความรู้ด้วยในคราวเดียวกัน”

สำหรับเยาวชนที่เข้ามาร่วมนำเสนอไอเดียการออกแบบเกมเพื่อแก้ปัญหาสังคมประเด็นต่างๆ กันในรอบนี้ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าตื่นเต้นและลุ้นว่าสิ่งที่ตนคิดมาจะถูกใจคณะกรรมการหรือไม่ โดยทีม DSU Ranger จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐมที่นำเสนอหัวข้อ Sugar Addicted หรือประเด็นเรื่องการติดหวาน กล่าวว่า “การติดหวานจะคล้ายกับการติดยาเสพติดคือรู้สึกอยากเมื่อไม่ได้ทาน พวกเราคิดว่าประเด็นด้านสุขภาพนี้น่ากังวล เพราะการติดหวานนี่ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาในอนาคต จึงนำมาขยายผลต่อ อีกทั้งกลุ่มพวกเราชอบเล่นบอร์ดเกมอยู่แล้ว เลยคิดว่าเราคงภูมิใจถ้าได้เห็นเกมนี้ได้ถูกสร้างขึ้นจริง และทำให้จำนวนคนติดหวานน้อยลง”

ส่วนทีม By U Bully จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตากหยิบยกประเด็นสังคมเรื่องของการ 
“บูลลี่” (Bully) หรือการกลั่นแกล้งด้วยวิธีต่างๆ เพราะพวกเขามองว่าเป็นปัญหาที่มีมายาวนานในสถานศึกษาเกือบทุกแห่งและควรได้รับการตระหนักถึง “หลายๆ คนที่พวกเราได้สำรวจและคุยด้วย ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงโดนบูลลี่ รวมถึงคนที่กลั่นแกล้งคนอื่นอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำร้ายและทำลายบุคคลที่ถูกกลั่นแกล้งในหลายๆ เรื่อง นั่นคือที่มาของการทำเรื่องนี้ เพราะการบูลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในโลกออนไลน์ เราทุกคนต่างอาจเคยบูลลี่คนอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน พวกเราจึงอยากหยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอ”

สำหรับ15 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่โครงการ“ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2” นั้น ได้แก่ 

หัวข้อ การพัฒนาชุมชน

1. ทีม H.D. people จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตาก ประเด็น ให้ความรู้ชนกลุ่มน้อย 

2. ทีม แพรวาและไตรเพชรกล้า จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเด็น การจัดการขยะ 

3. ทีม Super Family จากโรงเรียนปัญญาทิพย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเด็น การเลี้ยงเด็ก

4. ทีม HERB HERB TEAM จากโรงเรียนปราจีนกัลยาณี จังหวัดปราจีนบุรี ประเด็น สมุนไพรชุมชน

5. ทีม The Last Hope จากโรงเรียนวัชรวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร ประเด็น มลพิษทางอากาศ

 

หัวข้อ ทักษะชีวิต (เด็กและเยาวชน) 

6. ทีม ตาแรกไม่เป็นไรตาต่อไปไฟเริ่มไหม้ทั้งวง จากโรงเรียนสวนกุหลาบมหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี ประเด็น ค้นหาตัวเอง 

7. ทีม รักแท้ไม่ใช่แค่ Say Yes จากโรงเรียน บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 กรุงเทพมหานคร ประเด็น เพศสัมพันธ์ในวัยเรียน

8. ทีม By U Bully จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตาก ประเด็น Bullying 

9. ทีม Cronos จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม ประเด็น การจัดการเวลา 

10.ทีม BMK จากโรงเรียนบ้านหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ประเด็น โกงข้อสอบ 

11.ทีม DSU Ranger จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม ประเด็น ติดหวาน 

12.ทีม PSTL จากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร กรุงเทพมหานคร ประเด็น ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 

13.ทีม SRP Team จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพมหานคร ประเด็น ซึมเศร้า

14.ทีม FD408 จากโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ กรุงเทพมหานคร ประเด็น การคุกคามทางเพศ 

หัวข้อ นวัตกรรมในห้องเรียน 

15.ทีม PN Team (ทีมโพธา) จากโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี จังหวัดราชบุรี ประเด็น การเขียนโปรแกรม Coding 

มาร่วมเป็นกำลังใจให้ทั้ง 15 ทีมนวัตกรรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการคิดเชิงทักษะ กับโครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2” โดยติดตามความเคลื่อนไหวโครงการผ่านทาง Facebook Fanpage @tu.banpu

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line