จากส้วมถึงโรคติดเชื้อ นักวิจัยเตือน 70% ไร้การบำบัด ตัวการแพร่เชื้อสู่สิ่งแวดล้อม

จากส้วมถึงโรคติดเชื้อ นักวิจัยเตือน 70% ไร้การบำบัด ตัวการแพร่เชื้อสู่สิ่งแวดล้อม

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีส้วมสาธารณะที่สะอาดเพียงพอ เรามีส้วมใช้มากถึง 99% ทั่วประเทศทั้งในเมืองและชนบท และยังมีโครงการส้วมทองคำ ส้วมหอมกรุ่นติดแอร์ ดีไซน์เก๋มากมาย แต่ถ้าพิจารณาด้านการจัดการของเสียจากส้วม (สิ่งปฏิกูล) ถือว่าน้อยมากที่ได้รับการจัดการ แม้กระทั่งในกรุงเทพมหานครที่มีระบบบำบัดที่ดี แต่ด้วยพื้นที่ที่ครอบคลุมถึง 52 เขต มีระบบบำบัดเพียง 2 แห่ง คือ ที่หนองแขม และอ่อนนุช ซึ่งความสามารถในการบำบัดได้เพียง 20-30% ของสิ่งปฏิกูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น


หันไปดูข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2014 พบว่า อัตราการป่วยอุจจาระร่วงในประเทศไทยอยู่ที่ 4.08 รายต่อประชากรแสนคน โดยพบมากในเด็กประมาณ 88% สาเหตุมาจากปัญหาด้านสุขาภิบาลไม่เพียงพอ และขาดการเข้าถึงของน้ำสะอาด ซึ่งหากสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนและชุมชนไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสมจะกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายที่สำคัญของเชื้อโรค     

“เรามักคิดว่าไม่มีปัญหาหรอก เราไม่มีปัญหาอหิวาต์อย่างอินเดีย มีส้วมอยู่แล้ว และมีระบบบำบัดน้ำเสียในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามาดูกันจริงๆ จากสถิติเรายังมีคนป่วยอุจจาระร่วง อยู่มาก และเพิ่มขึ้นทุกปี แม้อัตราการตายจากโรคอุจจาระร่วงน้อยลงเยอะ แต่คนที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจากโรคอุจจาระร่วง หรือโรคติดเชื้อพยาธิต่างๆ ก็สูงขึ้นทุกปี ถ้าเราไม่มีการจัดการต่อไปย่อมเป็นปัญหาใหญ่”

ศ.ดร.ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ อาจารย์ประจำภาควิชาพลังงานสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า คนส่วนมากเมื่อพูดถึง “สิ่งปฏิกูล” ที่ออกมาจากส้วม มักคิดว่าปลายทางของมันคือ “ปุ๋ย” เอาไปทิ้งสวนไร่นาได้โดยไม่ต้องผ่านการบำบัดใดๆ ซึ่งนั่นเป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะ “สิ่งปฏิกูล” เหล่านั้นยังคงมีเชื้อโรคปนอยู่เป็นจำนวนมาก และหากพื้นที่สวนไร่นานั้นอยู่ไกลแหล่งน้ำ ระดับการแพร่กระจายของเชื้อยังไม่มากเท่าใด แต่ถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนก็จะมีมากตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนในดิน ในแหล่งน้ำ หรือซึมลงสู่น้ำใต้ดินก็ตาม

เป็นที่มาของ “โครงการวางแผนการจัดการสิ่งปฏิกูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการในการจัดการสิ่งปฏิกูล เพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและการเกิดอุจจาระร่วง นำร่องใน 3 พื้นที่เฝ้าระวัง ได้แก่ เทศบาลตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร องค์การบริการส่วนตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร และองค์การบริการส่วนตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างห่างไกลและยากต่อการเข้าถึง

ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ศ.ดร.ธรรมรัตน์ กล่าวว่า สถาบันเอไอทีสนใจประเด็นนี้อยู่แล้ว โดยเป็นการทำวิจัยต่อยอดจากเมื่อ 5 ปีก่อนที่ได้รับทุนจากมูลนิธิบิลแอนด์เมลินด้าเกตส์ ซึ่งมองว่าแม้จะมีการพัฒนาวัคซีนที่ดีแค่ไหน ในราคาถูกที่เข้าถึงได้ แต่ถ้าเรายังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อโรคอยู่ วัคซีนก็สู้ไม่ได้ จึงเปลี่ยนการลงทุนหันมาที่ระบบสุขาภิบาล หนึ่งในนั้นคือการจัดการสิ่งปฏิกูล วิธีการวางแผน การมีส่วนร่วม และสร้างความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างกรณีของจังหวัดสกลนคร ซึ่งพบผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสุขลักษณะการใช้ส้วมและการจัดการสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ แหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เมื่อถ่ายออกมา ถ้าไม่มีการบำบัดที่ดี สิ่งปฏิกูลเหล่านั้นอาจปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ไข่พยาธิเข้าสู่ปลา เมื่อคนบริโภคปลาไข่พยาธินั้นจะกลับเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารอีกครั้ง แม้จะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขที่คอยเฝ้าระวังและแจกยาถ่ายพยาธิให้ก็ตาม แต่นั่นคือความสูญเสีย เป็นภาระที่ภาครัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมากในแต่ละปี

“ถ้าเราสามารถจัดการของเสียจากส้วมได้ดีขึ้น มีการฆ่าเชื้อโรค มีการทำให้ของเสียเหล่านั้นกลายเป็นปุ๋ยอย่างปลอดภัย ก็จะตอบโจทย์ประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs- Sustainable Development Goals) ว่าในอีก 10 ปี คือปี 2030 เราต้องมีการจัดการตรงนี้ได้อย่างครบถ้วน” ศ.ดร.ธรรมรัตน์ สรุป

ทางด้าน ดร.อัจฉรา ทวีสาร นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ ภาควิชาพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันเอไอที กล่าวว่า จากประเมินภาพรวมการจัดการสิ่งปฏิกูลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละปริมาณสิ่งปฏิกูลที่ได้รับการจัดการมีเพียง 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70% ไม่ได้รับการจัดการใดๆ แต่ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง นอกจากนี้ จากการสำรวจพื้นที่เฝ้าระวัง 3 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร องค์การบริการส่วนตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร และองค์การบริการส่วนตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งพบการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับค่อนข้างสูง โดยสาเหตุไม่ได้มีเพียงพฤติกรรมการกินเพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ รวมถึงกระบวนการจัดการสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ ผลจากการเก็บตัวอย่างอุจจาระคน ถังกักเก็บสิ่งปฏิกูลในบ้านเรือน รถสูบสิ่งปฏิกูล และระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล รวมทั้งการวิเคราะห์ระยะติดต่อในปลาและคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงการประเมินทิศทางการไหลของน้ำและความใกล้ไกลแหล่งน้ำในแต่ละหมู่บ้านในพื้นที่ ร่วมกับการสำรวจความรู้ความใจการเกิดอุจจาระร่วงและการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับด้วยแบบสอบถาม พบว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เทศบาลตำบลตองโขบ (18 หมู่บ้าน) ซึ่งมีระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลที่มีประสิทธิภาพ หรือพื้นที่อบต.นาตาล (7 หมู่บ้าน) ที่ไม่มีระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ ล้วนพบการแพร่กระจายของเชื้อพยาธิใบไม้ตับสูงอันเนื่องมาจากสิ่งปฏิกูล

กรณีเทศบาลตำบลตองโขบ ดร.อัจฉรา กล่าวว่า มีรถสูบสิ่งปฏิกูลของเทศบาลในพื้นที่ มีระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น แต่ยังพบอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้สูง สาเหตุหนึ่งมาจากลักษณะถังกักเก็บสิ่งปฏิกูลในบ้านเรือน ที่มีลักษณะก้นบ่อเปิด ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดการที่ดี หากอยู่ใกล้แหล่งน้ำอาจเกิดการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำได้ และหากคนในพื้นที่มีพฤติกรรมการกินอาหารสุกๆดิบๆ ส่งผลต่อการติดเชื้อพยาธิได้ง่าย

ในขณะที่ อบต. นาตาลนั้น ไม่มีระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ สำหรับการให้บริการเก็บขนสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ และพบอัตราการติดเชื้อพยาธิสูงเช่นกัน ทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต้องลงพื้นที่ไปสุ่มตรวจการติดเชื้อพยาธิใบไม้อยู่ทุกปี เมื่อตรวจพบจะให้ยา ฟังดูสุขอนามัยน่าจะดี แต่อัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าระดับความรู้ความเข้าใจของประชาชนถึงสาเหตุการติดเชื้อพยาธิอันเนื่องมาจากการจัดการสิ่งปฏิกูลยังไม่ถูกต้อง โดยเชื่อว่าเมื่อใดที่ติดเชื้อพยาธิก็จะมียารักษา โดยการกินยาถ่ายพยาธิ และไม่รู้ว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งท่อน้ำดี จึงไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ

“เราเสนอว่าควรจะมีระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นระบบบำบัดที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ เพราะระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลในปัจจุบันไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ทำให้ปริมาณเชื้อโรคอาจปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมได้หากไม่ได้รับการจัดการที่ดี นอกจากนี้ ถังกักเก็บสิ่งปฏิกูลตามบ้านเรือน (On-site sanitation systems) ควรเป็นแบบระบบปิดและเชื่อมต่อกับท่อรวบรวมน้ำเสีย รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารสุกๆดิบๆของประชาชนในพื้นที่”      สำหรับพื้นที่อบต. ถ้าลอด จ. แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล การเดินทางเข้าถึงยาก พบว่า ส่วนใหญ่มีการจัดการสิ่งปฏิกูลที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีการขับถ่ายโดยใช้การขุดหลุม เมื่อเต็มก็จะย้ายไปขุดที่ใหม่ รวมทั้งการแหล่งน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรงไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น การต้มก่อนนำน้ำมาดื่มหรือปรุงอาหาร จึงพบผู้ป่วยอุจจาระร่วงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่เชิงเขา หรือหมู่บ้านที่อยู่ท้ายน้ำในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัด มีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ ดังนั้น เป็นไปได้ยากหากจะมีการดำเนินงานใดๆ ในพื้นที่อบต. ถ้ำลอด

ดร.อัจฉรา ยังหล่าวว่า เนื่องจาก 10% ของพื้นที่ยังไม่มีส้วม บางบ้านมีการใช้ส้วมร่วมกัน ดังนั้น แนวทางการจัดการควรเริ่มจากการสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ต้นน้ำหรือบนภูเขา เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ดื่มน้ำจากแหล่งธรรมชาติโดยตรง หากน้ำมีเชื้อโรคเจือปนก็จะเป็นสาเหตุของการเกิดอุจจาระร่วงได้ และเสนอให้นำเทคโนโลยีที่จะเน้นการบำบัดที่แหล่งกำเนิดขึ้นไปติดบนพื้นที่ เพราะการเดินทางค่อนข้างยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวทางการจัดการสิ่งปฏิกูลในแต่ละพื้นที่ย่อมขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่นั้นๆ ด้วย การเสนอแนะแนวทางการจัดการสิ่งปฏิกูลของโครงการนี้ก็เช่นกัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดรูปแบบการจัดการสิ่งปฏิกูลสำหรับพื้นที่อื่นต่อไป

Comments

Share Tweet Line