"แอน” สุภัชญา เปิดประสบการณ์ "True Success" ลดโลกร้อน ปฐมนิเทศนศ.ใหม่มหิดล

“True Success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind” ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ เป็นข้อความที่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงบันทึกไว้ที่แผ่นแรกของสมุดปฏิบัติการวิชา Bacteriology ของพระองค์ท่าน และเป็นปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยปณิธานที่จะเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน”


มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสร้างคนเก่งและคนดี โดยมุ่งพัฒนาให้มี “จิตสำนึก” ให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ดังคำถวายสัตย์ปฏิญาณที่น้องๆ ปี 1 ร่วมกล่าวในพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ทุกปีว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี สมศักดิ์ศรีแห่งชาวมหิดล จะถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง และถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง จะรับใช้ซึ่งปวงประชา เป็นปัญญาของแผ่นดินสืบไป”

ในช่วง Mahidol Talk ในพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2562 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหิดลสิทธาคาร ได้รับเกียรติจาก ดร.สุภัชญา เตชะชูเชิด หรือ “พี่แอน” ศิษย์เก่าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงความสำเร็จที่แท้จริง หรือ "True Success" ในนิยามของตนเอง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 4,000 คน

“พี่แอน” เป็นทั้งนักชีววิทยา นักเขียน a day และ National Geographic เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ “มารดาแห่งนกเงือก” ทำงานวิจัยเกี่ยวกับนก ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เธอเล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตการทำงานว่า เคยทำวิจัยเกี่ยวกับ “นกไต่ไม้ใหญ่” ซึ่งเป็นนกหายากใกล้สูญพันธุ์ ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ งานของเธอคือจะต้องติดวิทยุเล็กๆ ให้นก เพื่อที่จะดูการเคลื่อนที่ของนก เธอใช้เวลา 3 วันในการจับนกตัวแรกเพื่อที่จะมาวัดขนาด แล้วก็ชั่งน้ำหนัก และเลือกซื้อวิทยุที่ขนาดถูกต้องเพื่อที่จะติดกับตัวนก จากนั้นก็ใช้เวลาอีก 3 เดือนในการจับนกตัวต่อไป บางทีชีวิตก็เล่นตลก มีฝนตกติดต่อกันจนทำให้เก็บข้อมูลแทบไม่ได้ พอเก็บข้อมูลจนเสร็จเรียบร้อย แล้วกลับมาที่กรุงเทพฯ ขณะที่กำลังวิเคราะห์ผลงาน เกิดความรู้สึกว่า “วิทยาศาสตร์อาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเกินไป ถ้าเราไม่ได้สื่อสารกับคนอื่นด้วย” จึงพาตัวเองไปเข้าค่ายนักเขียนสารคดี ได้ฝึกและลองเขียนจนมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ จนปัจจุบันได้มาริเริ่มทำ “ร้านไม่สะดวกซื้อ” แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า “Refill Station” ซึ่งเป็นร้านค้าที่จำหน่ายสบู่ แชมพู โลชั่น และน้ำยาต่างๆ โดยให้คนซื้อนำขวดมาเติมเอง เพื่อให้ช่วยกันลดขยะพลาสติก และทำให้เรื่องอนุรักษ์เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

“สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคน แต่ทำไมดูไม่เห็นมีใครสนใจ พี่เห็นลุงคนหนึ่งชอบขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อเบียร์ที่ร้านที่อยู่ใกล้ๆ ถ้าเดินไปก็แค่ประมาณสองสามนาที พี่ก็เลยบอกลุงว่า ทำไมลุงไม่เดินไปซื้อล่ะ ได้ออกกำลังกายด้วย แล้วโลกจะได้ไม่ร้อน แต่ลุงกลับตอบพี่ว่า ร้อนขึ้นอีกสองสามองศาไม่ตายหรอก ตอนนั้นพี่ตกใจ เพราะเป็นคำตอบที่เราไม่ได้คาดฝัน และพี่ยังเจอคำตอบในลักษณะเดียวกันอีกหลายครั้งกับเหตุการณ์อื่นๆ จนวันหนึ่งเกิดเหนื่อยและท้อ ทั้งโทรไปร้องไห้กับเพื่อน และคุยกับตัวเองว่า เราต้องเหนื่อยอีกแค่ไหน ต้องทำอีกแค่ไหนคนถึงจะเข้าใจ คนถึงจะเปลี่ยน หรือเราจะปกป้องโลกใบนี้เอาไว้ได้ แล้วพี่ก็พบว่า จริงๆ แล้วเราแบกโลกไว้ทั้งใบไม่ได้หรอก เราก็แค่ทำในส่วนที่เราทำได้แค่นั้นเอง “Refill Station” ไม่ใช่ธุรกิจที่จะทำให้เราร่ำรวย แต่ทำให้เรามีความสุขที่ได้เห็นคนรอบๆ ตัวค่อยๆ เปลี่ยนแปลง หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม และพี่ก็หวังว่าสิ่งที่พี่ทำจะมีส่วนช่วยทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ด้วย”

ความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ใช่ชื่อเสียง หรือเงินทอง แต่คือความสุขเล็กๆ ในการที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารักเราเชื่อในทุกๆ วัน “แอน” สุภัชญา เตชะชูเชิด ถือเป็นบัณฑิตตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้นำเอาความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือผู้อื่น และทำประโยชน์เพื่อสังคม เป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ผู้มี “จิตสำนึก” ที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง ติดตามชมคลิปได้จาก FB: Mahidol University

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line