มรภ.นครศรีธรรมราช พัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ยกระดับงาน Craft ด้วยงานวิจัย

มรภ.นครศรีธรรมราช พัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ยกระดับงาน Craft ด้วยงานวิจัย

นักวิจัย มรภ.นครศรีธรรมราช ใช้โจทย์ชุมชนผสานองค์ความรู้ทางศิลปะและการออกแบบพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์จากงาน Craft สู่เอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้เรื่องราวจาก “ป่าประ” ในท้องถิ่นเป็นตัวเดินเรื่อง


เสน่ห์ของศิลปะไม่ใช่แค่เสพแล้วเกิดความจรรโลงใจเพียงอย่างเดียว แต่วันนี้ศาสตร์ทางศิลปะ ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบงานวิจัยเชิงพื้นที่ จากกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยใช้องค์ความรู้ทางศิลปะยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าหัตถกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ก่อเกิดงานวิจัยที่สร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับชุมชนในอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผศ.แฉล้ม สถาพร หัวหน้าโครงการวิจัยกระบวนการสร้างคุณค่าจากป่าประด้วยงานศิลปะและออกแบบแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่อง นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (ปีที่ 2) ภายใต้แผนโครงการการจัดการทรัพยากรและพัฒนานวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช สนับสนุนโดย หน่วยจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) ระบุว่า การทำงานวิจัยดังกล่าว เป็นการนำศาสตร์ทางศิลปะและออกแบบที่คณะวิจัยเชี่ยวชาญเข้ามาแก้ปัญหาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีจุดเด่นเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่ม โดยใช้ “เรื่องราวจากป่าประเป็นตัวเดินเรื่อง”

การยกระดับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากโจทย์ที่ชุมชนประสบปัญหาด้วยกัน 2 ด้าน คือ 1.การออกแบบลวดลายบนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปสู่เอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม 2.การจัดการกลุ่มให้เข้มแข็งเพื่อเจาะกลุ่มตลาดใหม่ นำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ เป็นกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่ม 4 ป.บาติก ซึ่งทำผ้าบาติก โดยทางกลุ่มต้องการออกแบบตราสัญลักษณ์  บรรจุภัณฑ์และช่องทางการเพิ่มตลาดกลุ่มใหม่ๆ 2.กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านสะพานราง ที่ต้องการพัฒนาลวดลายบนผลิตภัณฑ์ และ 3.กลุ่มสตรีท้ายทุ่ง ทำพรมเช็ดเท้า ซึ่งต้องการพัฒนาลวดลายบนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ จากการนำศิลปะในด้านต่างๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์

“งานวิจัยนี้ต่อยอดจากงานวิจัยเดิมที่อำเภอพิปูน โดยขยายผลมาที่อำเภอนบพิตำ โจทย์คือเราจะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะมาช่วยแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างไร จนได้ข้อสรุปคือ 1.พัฒนาทางด้านศิลปะ 2.พัฒนาทางด้านการออกแบบ ให้กับชุมชนทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งแตกต่างกันออกไปโดยใช้โจทย์เดียวกันคือ “โจทย์ป่าประ” เช่น การลงสีภาพลูกประด้วยดินสอสี หรือวาดเส้นด้วยปากกา ก็แปรค่ามาเป็นการวาดเรื่องราวลงบนผืนผ้าบาติก ส่วนเครื่องปั้นดินเผาก็ใส่เรื่องราวของคนเก็บลูกประ หรือปั้นลูกประออกมาให้เป็นงานลอยตัว 3 มิติ สำหรับใช้ตั้งโชว์ หรือกรณีของกลุ่มทำพรมเช็ดเท้า เราก็พยายามผลักดันให้เขาลืมคำว่าพรมเช็ดเท้าไปก่อน แล้วใส่ความเป็นศิลปินให้เขาใช้จินตนาการมาสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่หลากหลายขึ้น ไม่ใช่พรมเช็ดเท้าหรือของใช้สำหรับใช้ในครัวเรือนอย่างเดียว อาจจะเป็นภาพผลงานศิลปะที่มีเศษผ้าปะติดแล้วใส่กรอบรูปกลายเป็นของตกแต่งผนัง ตรงนี้จะเป็นการยกระดับตัวผลิตภัณฑ์ขึ้นมาทันที ดังนั้น งานวิจัยที่เข้าไปจับแต่ละกลุ่มจะเป็นการจุดประกายความคิดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปสู่ช่องทางการสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้เขาด้วย”

ด้าน ผศ.ภาสกร ทองขุนคำ หนึ่งในทีมวิจัย ยอมรับว่าการที่โครงการวิจัยกำหนดโจทย์โดยใช้“ป่าประเป็นตัวต้นเรื่อง”ทำให้กระบวนการทำงานของนักวิจัยเร็วขึ้น เนื่องจากมี “กรอบคิด” ที่ชัดเจนในการขึ้นโจทย์สร้างงานศิลปะของแต่ละกลุ่ม เพราะป่าประถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของชุมชน ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยต้องสกัดองค์ความรู้ของตัวเองให้สอดคล้องกับงานของแต่กลุ่มด้วย เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการถ่ายทอดทฤษฎีศิลปะขั้นพื้นฐาน และการสอดแทรกแนวคิดเรื่องป่าประเข้าไปในผลิตภัณฑ์จึงต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและผลิตภัณฑ์ของแต่ละกลุ่ม  

“เรื่องของป่าประ ลูกประ หรือวิถีชีวิตในป่าประ คือสิ่งที่ชุมชนคุ้นชินอยู่แล้ว ฉะนั้นแนวคิดที่นักวิจัยเข้าไปคุยกับเขา คือการใช้ป่าประเป็นตัวตั้ง เพื่อนำไปสู่แรงบันดาลใจในการทำงานของกลุ่มชุมชน แล้วสกัดเป็นความคิดจินตนาการในการสร้างงาน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางด้านศิลปะทั้งในเรื่ององค์ประกอบ เรื่องเส้น เรื่องสี คู่สี ซึ่งเป็นทฤษฎีพื้นฐานต่างๆ โดยในส่วนของนักวิจัยก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภูมิปัญญาดั้งเดิมและประสบการณ์การทำงานกับชาวบ้านด้วยครับ”

ขณะที่ น.ส.ลักษณ์ณารา ระเบียบโอษฐ์ ตัวแทนกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านสะพานราง กล่าวถึงการตัดสินใจเข้าร่วมทำงานวิจัยร่วมกับคณะนักวิจัยว่า อยากได้ความรู้เข้ามาพัฒนาลวดลายการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยจะมีการออกแบบลวดลาย รูปทรง ใหม่ๆ นำไปสู่สร้างเอกลักษณ์เครื่องปั้นดินเผาของกลุ่ม ทำให้เพิ่มมูลค่าสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนได้มากขึ้น

“หัดปั้นเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่อายุ 15 ปี คือเราไม่ได้เรียนออกแบบมานะคะ เห็นที่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่แล้วก็อยากลองปั้น ชอบก็เลยช่วยที่บ้านมาตลอด จนกระทั่งมีงานวิจัยเข้ามาทำให้ทางกลุ่มได้ไอเดียใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานเครื่องปั้นดินเผา ตอนนี้มีออเดอร์เข้ามามากขึ้นค่ะ”

อย่างไรก็ตาม ผศ.แฉล้ม กล่าวทิ้งท้ายว่า ความวิจิตรของงานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดในรูปแบบงานวิจัยเชิงพื้นที่ผ่านกลุ่มหัตถกรรมเหล่านี้ ถือเป็นความท้าทายที่นอกจากนักวิจัยจะต้อง “เข้าใจบริบทชุมชน” อย่างแท้จริงแล้ว นักวิจัยยังต้องศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะกระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานของแต่ละกลุ่มให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อให้เห็นถึงความโดดเด่นและความแตกต่างกันของงานแต่ละชิ้น ซึ่งเปรียบเสมือน “ลายเซ็น” ของศิลปินนั้นๆ เพราะเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังกล่าวจะนำไปสู่การต่อยอดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆและสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

Comments

Share Tweet Line