ที่ประชุมสภานโยบาย ผ่านฉลุยมาตรการ”แซนด์บ็อกซ์” เชื่อช่วยลดการสูญเสียโอกาสของประเทศ

ที่ประชุมสภานโยบาย ผ่านฉลุยมาตรการ”แซนด์บ็อกซ์” เชื่อช่วยลดการสูญเสียโอกาสของประเทศ

ที่ประชุมสภานโยบาย ผ่านฉลุยมาตรการ”แซนด์บ็อกซ์” เชื่อช่วยลดการสูญเสียโอกาสของประเทศ สร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม “สมคิด” จี้ ปลดล็อคกฎระเบียบ พัฒนานวัตกรรมด้านใหม่


ที่ประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุม พร้อมด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกรรมการสภานโยบายฯ ได้พิจารณาเห็นชอบหลักการและแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ (Innovation Sandbox) เพื่อสร้างโอกาสจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับประทศ
 
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวว่า มาตรการแซนด์บ็อกซ์ เป็นเรื่องที่ดีและเชื่อว่าไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่ประเด็นคือการเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมจะต้องเร่งเครื่องให้เร็ว กระทรวง อว. ต้องเป็นแกนหลักในการปลดล็อค เช่น การนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสามารถช่วยหลือเกษตรกรได้มาก แต่ก็ยังติดขัดข้อกฎหมายบางอย่าง ขณะที่สิงคโปร์บรรจุหลักสูตรโดรนในการเรียนการสอนแล้ว พร้อมทั้งย้ำว่า การตั้งคณะกรรมการ Sandbox เพื่อมาดูแลหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ควรตั้งคนที่เข้าใจเทคโนโลยีอย่างแท้จริง การขับเคลื่อนจะได้เกิดขึ้นเร็วและแก้ปัญหาได้ตรงจุด


 
“อว. ในฐานะเป็นกระทรวงใหม่ ต้องเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา กฎ ระเบียบบางอย่างที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ก็ควรจะปลดล็อคเพื่อจูงใจให้คนอื่นนำเงินมาลงทุน โดยมีมาตรการควบคุมอย่างโปรงใส แต่ไม่รัดตัวจนเกินไป เรื่องนี้ต้องหารือและถกกันอย่างหนัก ผมเองถ้าไม่ได้ทำงานในรัฐบาล ก็จะกลับไปสอนหนังสือและผมก็อยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมได้มากกว่านี้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
 
ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบนิเวศ (Eco System) ที่เหมาะสม โดยแซนด์บ็อกซ์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กระทรวงดำเนินการผลักดันร่วมกับการผลักดันบัญชีนวัตกรรม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และเรื่อง National Quality Infrastructure (NQI) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวข้างต้นเป็นภาพรวมการดำเนินงานของกระทรวงเพื่อไปสู่เป้าหมาย Ease of doing Innovation business


 
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยในฐานะฝ่ายวิชาการและเลขานุการสภานโยบายว่า สอวช. ได้จัดทำหลักการการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ หรือ Innovation Sandbox เสนอที่ประชุมสภานโยบาย ซึ่งสอดคล้องตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 14 ที่กำหนดให้สามารถจัดตั้งแซนด์บ็อกซ์เพื่อส่งเสริมการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่และพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง โดยให้ได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หรือการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดมาใช้บังคับให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการยกเว้นการใช้บังคับดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ สอวช. ได้เสนอหลักการสำคัญ กระบวนการดำเนินงาน ตลอดจนแนวทางการให้สิทธิประโยชน์และการปลดล็อคกฎหมายในโครงการแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้ที่ประชุมสภานโยบายพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการและแนวทางส่งเสริมแล้ว
 
การดำเนินการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เป็นการผสานแนวคิดระหว่างการวิจัย นวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือเป็นเรื่องใหม่ มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและต้องการการส่งเสริมเป็นพิเศษ แต่ยังติดอุปสรรคทางด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือไม่มีกฎหมายรองรับ การดำเนินการ Innovation Sandbox จึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมด้านใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ รวมถึงได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค แต่ต้องดำเนินการแบบมีการจำกัดขอบเขตชัดเจน


 
สำหรับหลักการการส่งเสริม Innovation Sandbox ที่เสนอต่อที่ประชุมสภานโยบาย ประกอบด้วย การเสนอให้สภานโยบายตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง (คณะกรรมการ Sandbox) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งและส่งเสริม Innovation Sandbox โดยผู้ประกอบการ/หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถทำเรื่องขอให้มีการจัดตั้ง Innovation Sandbox ผ่านการเสนอแผนการจัดตั้ง Sandbox ต่อคณะกรรมการ โดยอย่างน้อยมีรายละเอียดเรื่องเป้าหมายพิสูจน์นวัตกรรม ขอบเขตและ Feature ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระยะเวลา การวิเคราะห์ผลกระทบ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องที่ต้องการปลดล็อค ตลอดจนเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงปลดล็อคกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรค นอกจากนี้ ในส่วนการประเมินผลการดำเนินการ Sandbox ได้เสนอให้คณะกรรมการทำการประเมินผลการดำเนินการ Sandbox หากประสบความสำเร็จ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายผลในวงกว้าง แต่หากการดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จ ให้ยุติการดำเนินงานและรายงานผลต่อสภานโยบาย
 
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้เสนอประเด็นสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมความเสี่ยงในการดำเนินงาน Sandbox 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1. มีคณะกรรมการ Sandbox พิจารณาความปลอดภัย ความยุติธรรม จริยธรรมและสิทธิส่วนบุคคล 2. มีการดำเนินงานเป็นขั้นตอน และขยยการดำเนินงานทีละขั้นก่อนนำไปใช้ในวงกว้าง 3. จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน 4. ให้มีการประกันภัยของผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหาย และ 5. เมื่อมีการประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบต่อประชาชน หากสำเร็จให้มีการประกาศขยายขอบเขตการดำเนินงานในวงกว้าง แต่หากไม่สำเร็จให้ยุติโครงการและให้มีการชำระบัญชี ซึ่งที่ประชุมสภานโยบายเห็นชอบในหลักการทั้งหมด และได้มอบมอบหมาย สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้องและจัดตั้งคณะกรรมการ Sandbox เพื่อดำเนินการตามมาตรา 14 และเสนอสภานโยบายต่อไป

Comments

Share Tweet Line