"Young Technopreneur 2019" มอบรางวัลชนะเลิศให้กับผลงาน “Hydrogel” นวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยง

สามารถ และ สวทช. หนุนสร้างโอกาสให้เกิดนักธุรกิจตัวจริงด้านเทคโนโลยี มอบรางวัลชนะเลิศในโครงการ Young Technopreneur 2019 ให้กับผลงานสุดยอดความคิดสร้างสรรค์ ไฮโดรเจล (Hydrogel) - ติดทน - เส้นขนสัตว์ นวัตกรรมซีรัมอาบแห้ง สูตรเจลน้ำ รุกกลุ่มคนรักสัตว์ ตอบโจทย์ด้านนวัตกรรมใหม่ ที่มีแผนธุรกิจชัดเจน




นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า “ผลงานของน้อง ๆ ในปีนี้ มีการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ทั้งในส่วนของนวัตกรรม และแผนธุรกิจที่ชัดเจนมีความไปได้ทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการที่มาจากภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันพิจารณาตัดสินอย่างเข้มข้น สุดท้ายได้มอบรางวัลชนะเลิศโครงการ Young Technopreneur 2019 พร้อมรางวัลสุดยอดความคิดสร้างสรรค์ Samart Innovation Award (SIA) รับเงินรางวัลรวม 200,000 บาท ให้กับผลงานไฮโดรเจล-ติดทน-เส้นขนสัตว์ เป็นนวัตกรรมซีรั่มที่มีคุณสมบัติพิเศษ  ใช้แทนการอาบน้ำสัตว์หลังผ่าตัด หรือฉีดวัคซีน หรือสัตว์ที่ต้องรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ นอกจากนั้น ยังช่วยขจัดกลิ่นเหม็นให้กลายเป็นกลิ่นหอมที่ติดทนนาน อีกทั้งยังช่วยไล่ยุง เห็บ หมัดได้อีกด้วย ซึ่งผลงานได้ทำการผลิตและนำออกจำหน่ายแล้ว และกำลังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆออกตามมาเร็ว ๆ นี้ ส่วนรางวัลที่ 2 ได้แก่ ผลงาน I-Lock ระบบควบคุมรถด้วย IOT เป็นเสมือนกล่องสมองกลที่มีความสามารถในการควบคุมระบบไฟฟ้าของรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันระบบ I-Lock ให้บริการแล้ว โดยมีรถยนต์รอการติดตั้งอยู่ราว 100 คัน และรางวัลที่ 3 คือ ผลงาน Alto Tech Smart Hotel เป็นระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะภายในโรงแรมด้วยระบบ AI ทำให้การใช้งานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับในหลายอุตสาหกรรมได้ ล่าสุดได้มีการใช้งานจริงแล้วที่โรงแรมในเกาะสมุย จ.สุราษฏ์ธานี และสำหรับน้อง ๆ ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายอีก 9 ทีม ยังได้รับทุนพัฒนาผลงานทีมละ 30,000 บาทด้วย



ด้าน นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริม Startup ของภาครัฐที่ร่วมกับภาคเอกชน ในการสร้าง Startup รุ่นเยาว์ให้เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) ในสถาบันการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีให้กับสตาร์ทอัพที่เป็นเยาวชนในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมีนักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 860 ผลงาน มีทีมที่ผ่านเข้าร่วมทั้งหมดกว่า 520 ผลงาน โดยจากผลสำเร็จของกลุ่ม Startup รุ่นใหม่ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการนี้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินการจัดตั้งบริษัทแล้วกว่า 60 บริษัท และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ประมาณ 32 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจเป็นอย่างมากของการดำเนินโครงการฯ ที่สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อีกด้วย และท้ายสุดจากการพิจารณาทั้ง 12 ผลงาน กรรมการได้มีความเห็นว่า ปีนี้น้อง ๆ มีมุมมองในการพัฒนาผลงานที่ดีขึ้น มิได้มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างเป็นหลัก แต่ยังมีการศึกษาค้นคว้าทั้งพฤติกรรมและความต้องการของตลาด แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ไปค้นหางานวิจัยที่มีอยู่ในภาคการศึกษาและภาครัฐ มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการผู้ใช้เป็นสำคัญอีกด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและภูมิใจในเยาวชนไทยเป็นอย่างมาก”



นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตลอดระยะเวลา 17 ปี กลุ่มบริษัทสามารถ มุ่งสนับสนุนให้เกิดการสร้าง “คนคุณภาพ” ด้วยการสนับสนุนและสร้างโอกาสด้านความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีและการสร้างอาชีพ ผ่านโครงการ SAMART Innovation Award ซึ่งเราได้เห็นพัฒนาการและไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่กว่า 7,000 คน และเป็นเวลาถึง 8 ปี ที่ได้จับมือกับ สวทช. ในการจัดโครงการ Young Technopreneur เพื่อมุ่งสนับสนุนให้เกิดเจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่ได้โล่และเงินรางวัลเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์มากมาย ทั้งสร้างโอกาสในการเก็บเกี่ยวความรู้จากคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ โอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และโอกาสให้เกิดนักธุรกิจตัวจริงได้ จากการเข้าร่วมกิจกรรม Pitching ซึ่งในปีนี้มีเหล่านักลงทุนจากหลายธุรกิจเข้าร่วม อาทิ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มภาคการเกษตรและอาหาร กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพลังงาน และที่สำคัญโอกาสในการสร้างและสานต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมโครงการ และคนในแวดวงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต”

สำหรับผู้สนใจโครงการ SAMART Innovation Award ปี 2020 ติดตามได้ที่ www.samartsia.com หรือที่https://www.facebook.com/SamartInnovationAwards/

Comments

Share Tweet Line