สกสว. "นับถอยหลัง วิกฤตน้ำเค็ม” ความเชื่อมโยงที่มาจากภัยแล้ง

สกสว.

...โคราชแล้งหนัก นาข้าวตายเสียหายนับหมื่นไร่


 ...18 เขื่อนวิกฤต น้ำใช้การในเขื่อนอุบลรัตน์ 0% เขื่อนสิรินธร 2% เขื่อนจุฬาภรณ์ 5% เขื่อนภูมิพล 7% ...

หน้าฝนยังแล้งขนาดนี้ แล้วหลังจากนี้ล่ะจะเป็นอย่างไร? เสียงสะท้อนจากหลายต่อหลายคนทันทีที่เห็นพาดหัวข่าว

เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ก่อนหน้า ภาพของจุดชมวิว ทางจักรยานริมโขง จังหวัดนครพนม ที่บางส่วนพังทลายเพราะดินข้างใต้ทรุดตัว ตอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศทำให้หลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มเป็นกังวลถึงผลกระทบสำคัญที่จะละเลยไปเสียมิได้คือ ปัญหาของ “ความเค็มในน้ำผิวดินและน้ำบาดาล”

บางคนเมื่อพูดถึงน้ำบาดาลจะเบือนหน้าหนี ในความเป็นจริงน้ำประปาส่วนใหญ่ถ้าไม่นับในกรุงเทพฯ เขตการประปานครหลวง และประปาภูมิภาค น้ำต้นทุนเกือบทั้งหมดมาจากน้ำบาดาล รวมทั้งน้ำดื่มสารพัดยี่ห้อล้วนมาจากใต้ดินทั้งสิ้น ประเทศไทยพึ่งพิงน้ำบาดาลมาก แต่ขาดการวางแผนล่วงหน้าเพื่อพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้อย่างเป็นระบบ แต่เมื่อพื้นที่ไหนประสบภัยแล้ง ขาดน้ำอุปโภคบริโภคก็จะมีการให้งบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อเจาะบ่อบาดาลขึ้นมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันทุกๆ ปีไป และยังมีอีกไม่น้อยที่แอบลักลอบเจาะบ่อโดยไม่มีการแจ้งทางการ 

“ถ้าเราตัดน้ำชลประทานที่เป็นน้ำทำนาออกไป จะเห็นว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยใช้น้ำบาดาลเยอะมาก”

ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า การใช้น้ำบาดาลเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรุกตัวของน้ำบาดาลเค็มเข้ามาในเขตน้ำบาดาลจืด

ที่มาของ“โครงการประเมินสถานะองค์ความรู้ด้านความเค็มของน้ำและดิน ข้อมูลและปัญหาหลักด้านความเค็มของน้ำและดิน เพื่อนำไปสู่การกำหนดหัวข้อวิจัยด้านความเค็มของน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) 

การรุกคืบของน้ำบาดาลเค็ม

ประเทศไทยเกิดปัญหาความเค็มของน้ำและดินทั้งในแผ่นดินและบริเวณชายฝั่งทะเล การแพร่กระจายความเค็มเกิดจากสภาพทางธรรมชาติ (แบบนี้ค่อยๆ เกิดขึ้น) และการกระทำของมนุษย์ (แบบนี้เกิดขึ้นเร็วมาก) ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำและดิน เช่น การรุกล้ำของน้ำเค็ม การแพร่กระจายของน้ำบาดาลเค็ม และดินเค็ม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของน้ำ เพื่อการอุปโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และระบบนิเวศ ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝน รูปแบบ การกระจายตัวของฝน การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และความเค็มของน้ำทะเล รวมถึงปรากฏการณ์ทางสมุทรศาสตร์ ทำให้เกิดคำถามถึงผลกระทบด้านความเค็มของน้ำและดิน และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการศึกษาด้านความเค็มของน้ำและดินที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ องค์ความรู้ยังขาดหายไปในเรื่องทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน การปนเปื้อนของน้ำเค็ม การหนุนสูงของน้ำทะเล ต่อระบบนิเวศ เกษตรกรรม ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมในอนาคตในเชิงพื้นที่ เชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม โจทย์ที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เครือข่าย รวมถึงเป้าหมายดำเนินการวิจัย จึงเป็นประเด็นวิจัยสำคัญที่ควรกำหนดแนวทางและเป้าหมายทั้งเชิงพื้นที่และประเด็นวิจัยให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทัน มีการวางแผนการรับมือ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ดร.โพยม สราภิรมย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ บอกว่า ปัญหาหลักด้านความเค็มในประเทศไทย ได้แก่ ดินเค็ม น้ำเค็มทั้งน้ำผิวดินและน้ำบาดาล การรุกตัวของน้ำทะเล ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในแม่น้ำ แผ่นดินและในชั้นน้ำบาดาล การจัดการน้ำในพื้นที่น้ำจืดหายากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่เกาะ การเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด และการทำนาเกลือสินเธาว์และเหมืองแร่โพแทช ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นต่อทรัพยากรในภูมิภาคต่างๆ กันตามแหล่งกำเนิดความเค็ม และกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่างปัญหาน้ำเค็มบนดินที่พบมากคือ บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และลุ่มน้ำเจ้าพระยากับท่าจีน โดยพบว่าในช่วงหน้าแล้ง น้ำทะเลหนุนทำให้เกิดผลกระทบต่อเรื่องประปา ทั้งน้ำประปานครหลวง น้ำประปาภูมิภาค ล้วนได้รับผลกระทบ

“เราใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาผลิตน้ำประปาส่วนใหญ่ เมื่อมีปัญหาน้ำเค็มเข้ามา เราก็ใช้น้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนภูมิพลลงมาไล่ คือ ใช้น้ำจืดผลักดันน้ำเค็ม มีการทำประตูระบายน้ำกั้นน้ำ ฯลฯ ขณะที่ภาคกลางทางฝั่งปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง แม้จะมีปัญหาคล้ายกรุงเทพฯ แต่เมื่อก่อนไม่มีแหล่งน้ำสำรองขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลมาช่วยไล่น้ำเค็ม จึงต้องใช้น้ำดิบจากแหล่งที่ซื้อไว้เป็นบ่อสำรองมาผลิตแทน ตอนนี้มีอ่างเก็บน้ำใหม่ขึ้นมามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้บ้างแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาซับซ้อนกว่านั้นคือ นากุ้งอยากได้น้ำเค็ม แต่เกษตรกรและประปาอยากได้น้ำจืด”

นาเกลือ-นากุ้ง กับตัวแปรสำคัญคือมนุษย์

ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาสำคัญคือ ดินและน้ำบาดาลเค็ม มีการคาดการณ์กันว่าแหล่งเกลือหินใต้ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณมากถึง 18 ล้านล้านตัน โดยพบอยู่ใน 2 พื้นที่ คือ แอ่งโคราช ด้านตะวันตกเฉียงใต้และทางใต้ของเทือกเขาภูพาน และแอ่งสกลนคร ด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของเทือกเขาภูพาน

ดร.โพยม อธิบายว่า เกลือใต้ดินเหล่านี้ที่มักจะนำมาทำเกลือสินเธาว์แล้วบางทีก็ปล่อยให้น้ำที่เกิดจากการผลิตเกลือแพร่กระจาย หรือบางทีก็เป็นตามธรรมชาติ คือเมื่อพื้นที่เป็นดินเค็ม น้ำเค็มเหล่านี้ก็ไหลลงมาในลำห้วยและแม่น้ำ เพราะฉะนั้นในภาคอีสานแม้จะไม่มีทะเลก็มีความเค็มเช่นกัน

“ สิ่งที่ผมคิดว่าจะต้องเจอแน่ๆ คือ ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาเหล่านี้เร็วขึ้น รุนแรงขึ้นคือ มนุษย์ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของมนุษย์ทำให้เกิดความเค็มที่แพร่กระจายมากขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ หนึ่ง เราทำนาเกลือ สอง เราทำนากุ้ง และปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการทะเลาะกันและเป็นประเด็นมากก็คือ การทำนากุ้งน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด อย่างเช่นพื้นที่ในจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และตอนนี้ก็เหมือนจะแพร่ขยายไปเรื่อยๆ จนเกือบถึงนครสวรรค์แล้ว” 

ยกตัวอย่าง สมมติว่า นากุ้งที่นครปฐมอาจจะมีศักยภาพให้ทำได้อย่างเต็มที่แค่หนึ่งหมื่นไร่ ถ้าทำเกินศักยภาพไปเป็นหนึ่งแสนไร่ ไม่ใช่กระทบแค่น้ำผิวดิน แต่จะกระทบไปถึงดินและน้ำใต้ดินด้วย และทำลายระบบนิเวศโดยรอบด้วย ทั้งนี้ในกรณีการกระจายความเค็มของนากุ้งในพื้นที่ภาคกลางนั้น ดร.โพยม บอกว่า ต้องพิจารณาเป็นพื้นที่ๆ ไปด้วย เพราะพื้นที่ภาคกลางค่อนข้างเป็นดินเหนียวและดินทราย ถ้าไปทำอยู่บนดินเหนียวอาจจะปลอดภัยก็ได้ แต่ถ้าไปทำตรงโซนที่เป็นทรายตื้น อาจจะรั่วซึมเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ง่าย

ฉะนั้นปัญหาใหญ่ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็ม แต่มนุษย์นี่แหละที่กระตุ้นให้เกิดปัญหารุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคอีสานที่มีการทำนาเกลือกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเกลือที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี หรือที่อำเภอประทาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็มอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า

การเติมน้ำใต้ดิน ใช่ว่าจะทำที่ไหนก็ได้

ในเมื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมามากจะด้วยความจำเป็นของพื้นที่ขาดน้ำอุปโภคบริโภค หรือเพราะภัยแล้ง การจัดการเติมน้ำใต้ดิน (Managed Aquifer Recharge, MAR) เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ แต่ปัญหาคือ ควรทำวิธีไหน และจุดๆ ไหนกัน จึงจะเหมาะสม

น้ำประปาในกรุงเทพฯ ใช้น้ำจากผิวดิน แต่ในอุตสาหกรรมบางประเภทก็ใช้น้ำบาดาล ดร.โพยม บอกว่า “น้ำบาดาลในกรุงเทพฯ จะเค็มเป็นชั้นๆ ไม่ได้เค็มทุกชั้น ส่วนใหญ่จะเค็มชั้นบน ข้างล่างจืด การเจาะบ่อบาดาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญเพราะต้องผ่านชั้นบนไปให้ถึงชั้นน้ำจืด และต้องเติมน้ำให้พอดีกับที่เราใช้ ไม่เช่นนั้นน้ำเค็มจากน้ำทะเลจะเข้ามาได้ เหมือนน้ำที่ปากแม่น้ำ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งเฝ้าระวังอยู่ แจ้งว่าทั้งระดับน้ำทะเลและความเค็มยังเป็นปกติ แต่มีความแปรปรวนอันเนื่องจากน้ำในแผ่นดินเป็นหลัก นั่นคือ น้ำทะเลเหมือนเดิม แต่น้ำที่ไหลลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้ามีน้อย ความเค็มก็จะรุกเข้ามาได้มาก

เช่นเดียวกับดินเค็มในภาคอีสาน เป็นดินเค็มในพื้นที่เกษตรกรรม มีความเค็มหลายระดับ เค็มน้อย เค็มปานกลาง และเค็มมาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีระดับความเค็มน้อย เราจึงพยายามจัดการพื้นที่ดินเค็มน้อย ควบคุมไม่ให้มันขยายตัว และปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมตามศักยภาพ เช่น ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งชอบดินเค็มนิดๆ ฉะนั้นในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดสุรินทร์ หรือเขตใกล้เคียงก็ใช้ประโยชน์ได้ แต่อาจจะได้ข้าวไม่มากเช่นที่อื่น หรือในพื้นที่ดินเค็มจัดก็ส่งเสริมการเลี้ยงปลาที่ชอบน้ำกร่อย ปลูกพืชอินทรีย์ หรือ สมุนไพรบางชนิด เป็นต้น”

ดร.โพยม บอกอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นดินเค็ม หรือการทำนากุ้ง รวมทั้งปริมาณน้ำฝน ล้วนสัมพันธ์กับการกระจายตัวของน้ำบาดาลเค็ม รวมทั้งกรณีที่เกิดหลุมยุบก็เช่นกัน

“ฝนตกลงมา น้ำใต้ดินไหลเอาเกลือเหล่านี้ไปแพร่กระจาย และปัญหาที่สูบใช้น้ำใต้ดินเค็มมาทำเกลือมากก็ทำให้เกิดหลุมยุบจากกระบวนการเอาเกลือขึ้นมาทำนาเกลือหรือ Solution Mining ก็คือเอาน้ำไปละลายเกลือและสูบขึ้นมาใช้ จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าถ้าเราบริหารจัดการดีๆ ควบคุมระดับน้ำใต้ดินได้ก็สามารถควบคุมการแพร่กระจายความเค็มได้ด้วย แต่ปัญหาที่กังวลคือ เรื่องการเติมน้ำใต้ดิน”

ในภาคอีสานนั้น ถ้าเราไปเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ดินเค็ม น้ำใต้ดินที่เค็มก็อาจจะแพร่กระจาย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าจะต้องเติมที่ตรงไหน อย่างไร การไปเติมน้ำบาดาลแบบไม่รู้ที่รู้ทาง ก็อาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม นั่นคือ ปกติพื้นที่ในอีสานจะเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าเนินลอนลาดคือสูงๆ ต่ำๆ สลับกับที่ลุ่ม เวลาที่น้ำใต้ดินไหลจะไหลจากเนินแล้วไหลลงไปพาเอาเกลือขึ้นมาที่ลุ่ม ถ้าเติมน้ำใต้ดินมากๆ ที่ลุ่มใกล้เคียงจะเค็มมากกว่าเดิม หรือไปเติมที่ลุ่มที่มีความเค็มบางจุด อาจจะทำให้ความเค็มไปเกิดในที่ใหม่ๆ เป็นต้น

ดร.โพยม กล่าวว่า “ในเมื่อเราเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรพยายามที่จะไม่ให้มันเกิดเพิ่มขึ้นอีกหรือแพร่กระจายมากขึ้น เพราะถ้าเราสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากๆ จะเกิดการแทรกตัวของน้ำเค็มได้ สิ่งที่ควรทำคือจัดการให้มีการเติมน้ำใต้ดินที่เรียกว่า Managed Aquifer Recharge หรือ MAR  ให้เท่า ๆ กับที่เราใช้ โดยหลักการ คือ เราใช้เท่าไร เราควรจะเติมเท่านั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำของพื้นที่ แต่ต้องเข้าใจเรื่องชั้นดินชั้นหิน คุณภาพน้ำ และระบบการไหลด้วยว่า เติมแล้วจะไปเกิดผลกระทบกับพื้นที่คนอื่นหรือไม่ ระบบจะยั่งยืนหรือไม่และการดูแลรักษาระบบอย่างไร เป็นเรื่องนี้ต้องมีหน่วยงานลงไปกำกับดูแล เราต้องวางแผนการเติมน้ำทั่วประเทศ” 

การเติมน้ำใต้ดิน เป็นเรื่องที่ทุก ๆ ประเทศทั่วโลกทำกัน ทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย ฮออลแลนด์ เยอรมัน อินเดีย จีน แต่จะมีการวางแผนแม่บทการเติมน้ำใต้ดิน มีคู่มือที่เป็นมาตรฐาน และมีหน่วยงานกำกับดูแลติดตาม เพื่อป้องกันปัญหาด้านคุณภาพน้ำที่จะตามมา เพราะเรื่องนี้เป็นการบูรณาการการจัดการน้ำผิวดิน-ใต้ดิน และช่วยแก้น้ำแล้ง น้ำท่วม  น้ำเค็ม ได้เป็นอย่างดี แต่ก็เปรียบเสมือนยาแรง กินผิดวิธีแทนที่จะหายป่วย ก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายแทนได้

“นอกจากนี้ ยังต้องเป็นการบริหารจัดการบ่อน้ำบาดาลที่เรียกว่า Well Field การวางตำแหน่งบ่อบาดาลต้องไม่แย่งน้ำกัน คือ บางแห่งบ่อเดียวพอดีอยู่แล้ว ถ้าจะเจาะอีกบ่อควรจะเป็นตรงไหน ห่างกันเท่าไหร่ จึงไม่เกิดการทำให้ความเค็มถูกดึงขึ้นมาจากระดับลึกลงไป เรื่องนี้ในประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายกำกับไว้ชัดเจน ฉะนั้น ฐานข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลเหล่านี้ต้องมีความแม่นยำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีเกลือหินรองรับอยู่ด้านล่าง ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งหน่วยงานของไทยทำได้ แต่ระดับนโยบายต้องให้ความสำคัญตรงนี้” ดร.โพยม กล่าวยุทธศาสตร์การบริหารจัดการปัญหาเค็ม-เค็ม

หัวหน้าคณะวิจัย ดร.โพยม บอกว่า “ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และดิน ทุกอย่างสำคัญหมด จึงต้องใช้ “พื้นที่” เป็นตัวตั้งในการบริหารจัดการ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเน้นไปที่ยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร เกษตรอินทรย์ ก็ต้องดูเรื่องการใช้เทคนิคแก้ไขหรือลดความเค็มในดินเค็ม เพิ่มน้ำสำรองเพื่อเจือจางน้ำเค็มและอะไรที่ตอบโจทย์ด้านเกษตร  ส่วนภาคเหนือและภาคกลาง เป็นเรื่องการจัดการน้ำต้นทุน เพื่อรักษาความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีคนทำวิจัยว่า ถ้าน้ำในสถานีสูบน้ำสำเหร่ ซึ่งเป็นแหล่งที่สูบขึ้นมาทำน้ำประปากรุงเทพฯ เค็ม จะต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนมาเมื่อไร อย่างไร แต่ถ้าเขื่อนไม่มีน้ำจะเกิดอะไรขึ้น ในอนาคตจึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล ทั้งการใช้น้ำในพื้นที่ภาคกลาง และการรักษาระบบนิเวศ เพื่อไล่ความเค็ม เพราะน้ำที่ใช้ไม่ได้ปล่อยมาเพื่อไล่ความเค็มอย่างเดียว แต่ต้องใช้กันทั้งลุ่มน้ำ

ขณะที่ภาคตะวันออกกับภาคใต้ จะเน้นเรื่องประปารองรับน้ำกินน้ำใช้และการท่องเที่ยว เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ระยะการไหลสั้นมาก น้ำไหลมานิดเดียวก็ไหลลงทะเลหมด การกักเก็บน้ำเพื่อไล่ความเค็ม เพื่อทำน้ำประปาจึงสำคัญ รวมทั้งมีพื้นที่เกาะมากมาย ฉะนั้น ต้องเร่งทำวิจัยในเรื่องเทคนิคการเก็บน้ำและน้ำฝนในพื้นที่ในเกาะโดยเร็ว รวมถึงการทำวิจัยเกี่ยวกับการทำเขื่อนใต้ดินและการกรองน้ำทะเลต้นทุนต่ำ เพราะคนที่อาศัยบนเกาะต้องใช้น้ำในราคาที่แพงมาก ๆ

ประเทศไทยใช้น้ำใต้ดินเยอะมาก แต่ไม่ได้อยู่ในแผนหลักของการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ เราจะเห็นแต่แผนผังน้ำผิวดิน ขาดน้ำใต้ดิน และน้ำเสีย ในแผนเดียวกัน จึงยังเป็นปัญหา ที่ผ่านมาให้ความสำคัญของน้ำบาดาลในฐานะเป็นน้ำสำรองยามวิกฤติ ทั้งที่มีโครงการชลประทานน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งได้ดีมากๆ เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว  แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีระบบการใช้ และเติมน้ำใต้ดิน ให้พื้นที่ชลประทานได้อย่างเป็นรูปธรรม  แม้ระยะหลังมีหน่วยงานที่ทำงานด้านน้ำบาดาลพยายามดูแลโดยเฉพาะขึ้น มีการรายงานสถานการณ์น้ำบาดาล และมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แต่ปัญหาคือ

“กรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่เข้มแข็งมาก มีบุคลากรและงบประมาณจำนวนมาก แต่ถูกกำหนดบทบาทให้ดูแลพื้นที่ในเขตชลประทานซึ่งมีเพียง 25-30 %ของประเทศ ขณะที่ประเทสไทยมีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานเยอะมาก ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ที่ดูแลเรื่องน้ำนอกเขตชลประทานก็กระจัดกระจาย งบประมาณ และบุคลากรของหน่วยงานท้องถิ่นก็มีน้อยมาก สุดท้ายชาวบ้านนอกเขตชลประทานก็ค่อนข้างสับสน และน่าเห็นใจ เพราะไม่รู้จะได้รับการสนับสนุน ดูแล จากหน่วยงานไหนกันแน่ จึงได้แต่รอลุ้นจากน้ำฝน แต่จากสถานการณ์ที่แปรปรวนของภูมิอากาศ ถือว่าเสี่ยงมาก ถ้าเราพัฒนาระบบธรรมาภิบาลด้านน้ำและบูรณาการการทำงานด้านน้ำแบบรัฐ-ท้องถิ่นไม่ได้ ปัญหาด้านน้ำก็แก้ไขได้ยาก” ดร.โพยม สรุป

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line