ราชมงคลพระนคร สานฝันเด็กชายขอบ มุ่งคว้าปริญญากลับมาพัฒนาบ้านเกิด

ราชมงคลพระนคร สานฝันเด็กชายขอบ มุ่งคว้าปริญญากลับมาพัฒนาบ้านเกิด

“เพราะชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยาก หากเกิดจากความพยายาม” หากเปรียบคำนิยามนี้กับชีวิตเด็กสาวชาวไทใหญ่ นางสาวแสงอ่อง ลุงอู นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีเสื้อผ้า หลักสูตรเทียบโอน คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่มุ่งมั่นเดินทางไกลราว 1,000 กิโลเมตร จากหมู่บ้านชายขอบดินแดนไทย-พม่า สู่กรุงเทพมหานคร อดทนต่อสู้กับอุปสรรคเพื่อทำตามความฝัน โดยหวังว่าการศึกษาจะสามารถเป็นบันไดต่อยอดชีวิตให้ดีกว่าเดิม


นางสาวแสงอ่อง ลุงอู  เล่าว่า ตนเกิดและเติบโตที่ชุมชนไทใหญ่ในศูนย์พักพิง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอพยพมาจากรัฐฉาน พ่อประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป (เกษตรกรรม) ปลูกกระเทียม พริก และรับซ่อมระบบประปาในหมู่บ้าน ส่วนแม่มีอาชีพทอผ้า ตั้งแต่เด็กเห็นความเหน็ดเหนื่อยและยากลำบากของพ่อแม่มาตลอด จึงช่วยทำงานมาตลอดไม่ว่าจะรับจ้างเก็บพริก ปลูกกระเทียม รวมถึงเก็บผักไปขายในหมู่บ้านเพื่อเป็นค่าขนม และพยายามหาโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือให้สูง เพื่อหวังนำความรู้ไปช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนต่อไป ทั้งนี้ก่อนที่จะเข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานคร จบการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จากนั้นไปศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาบัญชี ที่สารพัดช่างเชียงใหม่ ศูนย์การเรียนรู้วัดดอนจั่น ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอาศัยอยู่กินในวัด ซึ่งที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ สาขาเทคโนโลยีแฟชั่นและสิ่งทอ โดยมีอาจารย์ต่างชาติที่เข้ามาเป็นอาจารย์อาสาที่ศูนย์การเรียนรู้ช่วยเหลือทุนเล่าเรียน (Stu and The Kids)

นางสาวแสงอ่อง ลุงอู  เล่าอีกว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาเรียนที่ มทร.พระนคร นับเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะไม่คาดคิดว่าจะมีโอกาสได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และเข้ามาเรียนในเมืองหลวง โดยอาจารย์ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ซึ่งจบการศึกษาจาก มทร.พระนคร แนะนำให้มาเรียนด้านสิ่งทอต่อที่นี่ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาล และมีหลักสูตรที่สามารถเทียบโอนได้ ทั้งนี้ช่วงแรกที่เข้ามาเรียนมีการปรับตัวหลายอย่างกับสังคมเมืองใหญ่ ส่วนด้านการเงิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต้องประหยัดและอดออม เพราะไม่สามารถขอทุนจากมหาวิทยาลัยฯ หรือกู้ยืมทุน กยศ. ได้ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน “ตอนนั้นมีเงินใช้จ่ายเพียงวันละ 50 บาท รู้สึกหมดความหวังที่จะได้เรียนต่อ เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเป็นค่าเล่าเรียน รู้สึกเสียใจ แต่ไม่ท้อ พยายามมองหาช่องทางตลอด จนกระทั่งอาจารย์ทางคณะทราบเรื่องของตน จึงเข้ามาช่วยเหลือจัดหาทุนการศึกษาให้ ซึ่งเป็นทุนจากสมาคมศิษย์เก่าพณิชยการพระนคร อีกทั้งอาจารย์บางท่านได้ว่าจ้างให้ช่วยตัดเย็บชุดเพื่อเป็นรายได้เสริม จึงทำให้มีเงินพอจุนเจือชีวิตต่อได้ รู้สึกขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้โอกาสนักศึกษาทุกคนอย่างเท่าเทียม”

นางสาวแสงอ่อง ลุงอู  เล่าต่อว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาผลการเรียนแม้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาเสมอ แต่ไม่เคยคิดว่าที่ต้องตั้งใจเรียนเพราะยากจน แต่รู้สึกว่าเมื่อมีโอกาสและมีผู้มอบโอกาสให้แล้ว ควรทำให้ดีที่สุดในทุกวัน และไม่คิดหยุดความฝันในการมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตนเอง รวมถึงวันที่ทำให้ครอบครัวภูมิใจที่สุดคือการคว้าใบปริญญาและนำความรู้ที่มีกลับไปช่วยครอบครัว ช่วยพัฒนาบ้านเกิด ช่วยให้น้อง ๆ ในชุมชนไทใหญ่ได้มีโอกาสที่ดีเหมือนที่ตนได้รับ  “ฝากถึงทุกคนที่โชคดีมีเงินพร้อมให้ตั้งใจเรียน หมั่นศึกษาหาความรู้ อยากให้ทุกคนค้นหาตัวเองให้เจอ เพราะหากเรียนไปเรื่อยเปื่อยเราจะเสียเวลาไปในแต่ละวัน แต่หากเรามีจุดหมายจะทำให้เราเดินได้เต็มที่และไปถึงจุดหมายอย่างรวดเร็ว และมีทิศทาง”

ด้าน รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและให้โอกาสทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้มีการมอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาที่มีความประพฤติดี มีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักศึกษาและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อการศึกษาและการเรียนรู้ของนักศึกษา  เป็นประจำทุกปี โดยหวังส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาของนักศึกษาให้ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพทั้งด้านการเรียน การทำงาน และการดำรงชีวิตต่อไป

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line