ภัยอันตรายจากภาวะหัวใจล้มเหลว โดยความห่วงใยของ ทีมสหสาขาวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญ

ภัยอันตรายจากภาวะหัวใจล้มเหลว โดยความห่วงใยของ  ทีมสหสาขาวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอวัยวะที่เรียกว่า ‘หัวใจ’ เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในการมีชีวิต เพราะไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางของระบบไหลเวียนเลือดที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านทางเส้นเลือดแล้ว ยังถือเป็นอวัยวะที่บ่งบอกถึงความแข็งแรงของร่างกายได้อีกด้วย และเมื่อหลอดเลือดของหัวใจมีความผิดปกติ จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาหัวใจวายหรือที่เรียกกันว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) และเสียชีวิตในที่สุด โครงการ Every Beat Matters “เพราะทุกจังหวะมีความหมาย” จึงจุดประกายร่วมรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการรับรู้ข้อมูล การสังเกตสัญญาณเตือน และการปฏิบัติตัวในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างถูกต้อง


ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภัยเงียบที่คนไทยน้อยคนจะรู้ตัวและรักษาได้ทันท่วงที ปัจจุบันสถิติการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในประเทศไทยยังไม่มีทีท่าที่จะลดลง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 20 - 30% ต่อปี ซึ่งมากกว่า 2 - 3 เท่าของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งบางชนิดเสียอีก ดังนั้นการให้ความรู้ต่อประชาชน เพื่อลดความเสี่ยง จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะภาวะหัวใจล้มเหลวจะทำให้ร่างกายเกิดความอ่อนแอ โดยจะส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตแบบเฉียบพลันได้ เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดนั้นอ่อนแรงลงหรือมีการแข็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน

ทั้งนี้ ความรู้เกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวจึงมีความสำคัญและเพื่อให้ทุก ๆ คนสามารถเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น โครงการ Every Beat Matters จึงได้จัดทำวีดีโอชุดทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team Video Series) เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้ในเรื่องภาวะหัวใจล้มเหลวแก่ผู้ป่วยในการดูแลและรักษาที่ถูกต้อง โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมสหสาขาวิชาชีพทั้ง 10 ท่าน ผ่านวิดีโอซีรี่ย์ 10 ตอน ได้แก่

Medical Expert Video - Episode 1 ภาวะหัวใจล้มเหลวกับผลกระทบในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นสูงขึ้น ๆ อย่างต่อเนื่องและมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่ง 1% ของประชากรทั้งหมดมีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยช่วงอายุของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวในประเทศไทยมีอายุน้อยกว่า ผู้ป่วยในประเทศแถบตะวันตกประมาณ 10 ปี 

Medical Expert Video - Episode 2 ภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้สูงอายุและคนวัยทำงาน เล่าถึงการสังเกตกลุ่มอาการเสี่ยงที่เป็นสัญญาณให้แก่ผู้ป่วยในการเข้าพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งโดยส่วนใหญ่ภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 65 ปี แต่ในปัจจุบันสามารถเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในกลุ่มคนวัยทำงานหรือมีอายุน้อยลงได้ เมื่อเทียบกับในอดีตโดยมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องหมั่นสังเกตกลุ่มอาการเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อย่างการหอบเหนื่อยตอนออกแรง ข้อเท้าบวม หอบขณะหลับ ฯลฯ ซึ่งเมื่อมีอาการเสี่ยงเหล่านี้ควรจะต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาโดยทันที

Medical Expert Video - Episode 3 สาเหตุและอาการสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลง หรือ กล้ามเนื้อหัวใจมีการแข็งตัวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถพบบ่อยได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยจะต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวอย่าง การทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่บ่อยครั้ง เป็นต้น ซึ่งหากผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นระยะเวลานานควรจะหมั่นเช็คสัญญาณเตือนของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่สม่ำเสมอ เพื่อที่จะสามารถตรวจพบและรักษาได้อย่างทันท่วงที

Medical Expert Video - Episode 4 การวินิจฉัยและแนวทางการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว  ซึ่งจะมาเผยเคล็ดลับในการดูแลหัวใจและรับมือกับภาวะหัวใจล้มเหลวให้ได้ดียิ่งขึ้นโดยเริ่มจากวิธีง่าย ๆ อย่างการสำรวจอาการและสัญญาณบ่งชี้ของภาวะฯ ด้วยตัวเอง การพบแพทย์เพื่อปรึกษาและวินิจฉัยโรคฯ การเข้ารับการรักษาโรคอย่างถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการที่ผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีส่วนช่วยสำคัญในการช่วยดูแลผู้ป่วยทั้งในด้านกำลังใจและการให้ความช่วยเหลือ และสุดท้ายคือการที่ผู้ป่วยเองจะต้องฝึกการคิดเชิงบวก เพื่อให้การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุข

Medical Expert Video - Episode 5 ภาวะแทรกซ้อนและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สู่ภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย แต่ผู้ป่วยควรจะตระหนักรู้เกี่ยวกับอาการแทรกซ้อนที่มากับโรค เพื่อที่จะได้เฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดอาการแทรกซ้อนรวมไปถึงสามารถสำรวจอาการได้ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งสำคัญในการป้องกันอาการแทรกซ้อนของภาวะหัวใจล้มเหลวจะประกอบไปด้วย การหมั่นดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และ การไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

Medical Expert Video - Episode 6 การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ที่มาช่วยสรุปเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองเพื่อให้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยประกอบไปด้วย การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดการทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม ให้ไม่เกิน 2 - 3 กรัมต่อวัน หมั่นจดบันทึกน้ำหนักตัว เพราะหาก น้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 – 2 กิโลกรัมภายใน 24 ชั่วโมงถือเป็นสัญญาณว่าอาการฯ กำลังแย่ลงต้องรีบไปพบแพทย์ รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมเสี่ยงให้น้อยลง อย่างงดสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ และควรทานยาให้ครบถ้วนตรงเวลาตามที่แพทย์กำหนด

Nurse Video - การสังเกตอาการเบื้องต้นของภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะในปัจจุบันผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวนอกจากมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังพบผู้ป่วยในระยะสุดท้ายซึ่งจะมีอาการน้ำท่วมปอดอยู่บ่อยครั้งจนกระทั่งเสียชีวิตลงที่สุด ซึ่งหากผู้ป่วยรู้แนวทางการสังเกตอาการเบื้องต้นของภาวะหัวใจล้มเหลวเองได้นั้นจะช่วยให้การเข้ารักษากับบุคคลากรทางการแพทย์เป็นไปได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อชะลอความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้อีกด้วย โดยสามารถสังเกตได้จากอะไรง่าย ๆ อย่างพฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวัน เช่นการทานอาหาร การออกกำลังกายที่แต่ก่อนสามารถออกกำลังได้ในปริมาณมาก แต่ตอนนี้ไม่สามารถออกกำลังได้เหมือนก่อน หรือจากประวัติด้านสุขภาพของคนในครอบครัวว่ามีการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ เป็นต้น

Pharmacist Video - การใช้ยาอย่างปลอดภัยในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว โดยส่วนมากแล้วการใช้ยากับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีผนังหัวใจบาง มีการบีบตัวน้อยกว่าปกติ ฯลฯ ซึ่งปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของผู้ป่วย อาการร่วมที่เกิดขึ้น โดยหลักการใช้ยารักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจะใช้ยาหลายกลุ่มในการรักษา อาทิ ยาที่มีส่วนช่วยในการพยุงหัวใจ ยาช่วยรักษาและบรรเทาอาการ อย่าง ยาขับปัสสาวะ ยาที่ช่วยในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น

Nutritionist Video - อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน หรือ โรคร่วมได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะต้อง ระวังการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ความคุมปริมาณการบริโภคน้ำให้เหมาะสมต่อวัน และระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการแทรกซ้อนได้นั่นเอง

Cardiac Rehabilitationist - การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะมีส่วนช่วยทำให้อาการเหนื่อยของผู้ป่วยลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานของหัวใจดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการทำงานของเยื่อบุผนังหัวใจดีขึ้น ซึ่งเมื่อเยื่อบุผนังหัวใจดีขึ้นจะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักน้อยลง แต่การออกกำลังกายในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นควรจะออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และอยู่ภายในการแนะนำ กำกับดูแล จากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Every Beat Matters “เพราะทุกจังหวะมีความหมาย” ได้ โดยสามารถเข้าไปรับชมข้อมูลที่เว็บไซต์โครงการ www.everybeatmatters.in.th หรือหากต้องการความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวแก่ผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูแล เพิ่มเติมสามารถเข้าไปร่วมแบ่งปันประสบการณ์ได้ที่ Facebook Page และ YouTube

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line