วิศวะมหิดล MOU กับ มหาวิทยาลัยโอซาก้า แห่งญี่ปุ่น ผนึกพลังวิจัยนวัตกรรมระดับโลก

วิศวะมหิดล MOU กับ มหาวิทยาลัยโอซาก้า แห่งญี่ปุ่น ผนึกพลังวิจัยนวัตกรรมระดับโลก

อีกก้าวของความร่วมมือ ไทย - ญี่ปุ่น ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยโอซาก้า แห่งประเทศญี่ปุ่น โดย ศาสตราจารย์มาซาโอะ ทานากะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกพลังความร่วมมือ ไทย - ญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมระดับโลก และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร พร้อมทั้งได้หารือและเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิศวกรรมชีวการแพทย์, วิทยาการข้อมูล และวิศวกรรมเคมี ณ มหาวิทยาลัยโอซาก้า (โทโยนากะ แคมปัส) ประเทศญี่ปุ่น


ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไทย – ญี่ปุ่นครั้งนี้ จะเสริมสร้างประโยชน์ต่อการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 งานวิจัยพัฒนาและวิทยาการที่รองรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและโลกอนาคต เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และบุคลากรได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสร้างนวัตกรรม โดยสอดคล้องแนวทางของรัฐบาลในการเสริมสร้างประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับ และ BCG Model ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่Bioeconomy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

ทั้งนี้ ทั้งสององค์กรมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่ง และต่างก็มุ่งความเป็นเลิศด้านการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านชีวการแพทย์, ชีวเคมี, วัสดุศาสตร์, ฟิสิกส์, ภูมิคุ้มกันวิทยา เป็นต้น มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่5 ทรงริเริ่มจัดสร้างโรงพยาบาลวังหลังในปี พ.ศ.2429 และพัฒนาเจริญก้าวหน้าเคียงคู่คุณภาพชีวิตของคนไทยมาตลอด 133 ปี  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล มี  17 คณะ,  6 วิทยาลัย,  8 สถาบัน,  5 โรงพยาบาล, 2 โรงพยาบาลทันตกรรม และ 2 โรงพยาบาลสัตว์

ส่วนมหาวิทยาลัยโอซาก้า นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ 1 ใน 7 ของประเทศญี่ปุ่น และมีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 295 ปี ตั้งแต่ยุคเอโดะ โดยก่อตั้งโรงเรียนพ่อค้าในปีค.ศ. 1724 หรือ ไคโตะคุโด และในปีค.ศ. 1838 เปิดโรงเรียนสอนศิลปวิทยาการตะวันตกสำหรับซามูไร หรือเทกิจูทู ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1869 มีการเปิดโรงเรียนแพทยศาสตร์จังหวัดโอซาก้า ขึ้นที่ใจกลางเมืองโอซาก้า หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1919 ได้ยกสถานะขึ้นเป็นวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จังหวัดโอซาก้า จากนั้นควบรวมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และสถาปนาเป็น มหาวิทยาลัยโอซาก้า ในปี ค.ศ. 1931  หลังจากนั้นอีก 2 ปี วิทยาลัยเทคนิคโอซาก้าได้ถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย และพัฒนาเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันมี 3 วิทยาเขต จำนวนนักศึกษากว่า 15,000 คน และเปิดสอนรวม 12 คณะ มีโรงพยาบาล 2 แห่ง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยโอซาก้ายังมีศิษย์เก่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลอีกด้วย

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line