นักวิจัยพบ ‘โปรตีนสำคัญ’ ในน้ำตาสุนัข ที่เปลี่ยนแปลงไปในโรคตาแห้ง

นักวิจัยพบ ‘โปรตีนสำคัญ’ ในน้ำตาสุนัข ที่เปลี่ยนแปลงไปในโรคตาแห้ง

ครั้งแรก! นักวิจัย สกสว. ศึกษาโปรตีนในน้ำตาสุนัข พบการเปลี่ยนแปลงของ ‘โปรตีนไลโซไซม์ (Lysozyme)’ ในน้ำตาสุนัขที่ป่วยเป็นโรคตาแห้ง มีผลให้สูญเสียคุณภาพของน้ำตา เผยเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมรักษาโรคตาแห้งในสุนัขได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโรคตาแห้งเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถหยุดรักษา หากเป็นรุนแรงและปล่อยไว้นานอาจทำให้กระจกตาและเยื่อตาขาวอักเสบ ถึงขั้นตาบอดได้

‘โรคตาแห้ง’ คือหนึ่งในโรคที่พบได้มากและสร้างความระคายเคืองต่อลูกตาสุนัขอย่างมาก เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติที่มีผลต่อการทำลายต่อมน้ำตา 
ทำให้ต่อมน้ำตาอักเสบและสร้างน้ำตาได้ในปริมาณที่น้อยลง ดวงตาสุนัขจะแห้ง มีขี้ตาออกมาตลอดเวลา เมื่อกะพริบตาจะเกิดการระคายเคือง กระจกตาและเยื่อตาขาวเกิดการอักเสบ หากไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจะเริ่มสร้างเม็ดสีบดบังบริเวณกระจกตา ทำให้สุนัขเริ่มมองไม่เห็น และหากเกิดแผลที่กระจกตา
ลุกลามติดเชื้อเข้าสู่ในดวงตา จะทำให้สุนัขตาบอดในที่สุด 


อ.สพ.ญ.ดร.เมทิตา สัสดี คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โรคตาแห้งเป็นโรคที่พบบ่อยมากในสุนัขทุกสายพันธุ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์หน้าสั้น ตาโต ปัจจุบันวิธีการรักษาโรคตาแห้งในสุนัขจะมีการให้น้ำตาเทียม และยาหยอดตาลดการอักเสบเพื่อบรรเทาอาการ ส่วนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการทำให้สุนัขสร้างน้ำตาจากต่อมน้ำตาตัวเองได้มากขึ้น โดยการใช้ยากดภูมิคุ้มกันที่ทำลายการสร้างน้ำตาจากต่อมน้ำตาเอาไว้ เพื่อให้สุนัขกลับมาสร้างน้ำตาได้เป็นปกติ ซึ่งยาตัวนี้มีชื่อว่า ‘ยากระตุ้นน้ำตาชนิด cyclosporine’

 “ปัญหาสำคัญของโรคตาแห้งในสุนัข คือเป็นโรคเรื้อรัง ที่แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว ตาจะยังคงมีอาการอักเสบอยู่ ไม่สามารถหยุดรักษาได้ อีกทั้งการให้ยารักษายังใช้เวลาและมีความยุ่งยาก ต้องหยอดตา 3 ชนิด คือ ยาลดอาการอักเสบ ยากระตุ้นน้ำตา และน้ำตาเทียม เรียงตามลำดับ และต้องหยอดห่างกันชนิดละ 10 นาที ซึ่งบางทีสัตวแพทย์จำเป็นต้องให้หยอดยาวันละ 4 ครั้ง คือเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ส่วนสุนัขที่มีอาการหนักต้องหยอดตาทุก 2 ชั่วโมง กลายเป็นภาระและสร้างความทุกข์ใจให้เจ้าของที่ต้องดูแลอย่างมาก” 

เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุและการเกิดโรคตาแห้งในสุนัขมากขึ้น อ.สพ.ญ.ดร.เมทิตา สัสดี ได้ทำกาวิจัยใน ‘โครงการวิเคราะห์โปรตีนในน้ำตาสุนัขปกติและสุนัขที่เป็นโรคตาแห้ง และอธิบายลักษณะการตอบสนองของโปรตีนในน้ำตาสุนัขป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากระตุ้นน้ำตาชนิด cyclosporine’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)โดยมุ่งหวังค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่จะนําไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาโรคตาแห้งในสุนัขที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ.สพ.ญ.ดร.เมทิตา กล่าวว่า งานวิจัยนี้ให้ความสนใจศึกษาโปรตีนในน้ำตาสุนัข เพราะโปรตีนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งคัดหลั่งในร่างกาย ซึ่งสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้ย่อมมีประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงต้องการศึกษาดูว่ามีโปรตีนชนิดใดบ้างในน้ำตา และโปรตีนแต่ละชนิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเกิดโรคและเมื่อได้รับการรักษา โดยในการศึกษาได้ใช้เทคนิคโปรติโอมิกส์ ทําการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในน้ำตาสุนัข 3 กลุ่ม คือสุนัขปกติ สุนัขที่เป็นโรคตาแห้งและสุนัขป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากระตุ้นน้ำตาชนิด cyclosporine ทั้งนี้ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำตาจากสุนัขทั้ง 3 กลุ่ม โดยไม่จํากัดเพศ สายพันธุ์และช่วงอายุ

“ในงานวิจัยสามารถจำแนกโปรตีนที่พบให้น้ำตาสุนัขหลายชนิด และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนหลายชนิดอย่างมีนัยสําคัญในสุนัขที่ป่วยเป็นโรคตาแห้ง โปรตีนบางชนิดไม่เจอในสุนัขปกติแต่มาเจอในสุนัขที่เป็นโรคตาแห้ง โปรตีนบางชนิดหายไป โดยโปรตีนที่พบการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดคือ ไลโซไซม์ (lysozyme) เป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับอาการอักเสบ ทำหน้าที่เป็น antimicrobial หรือ ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เพื่อไม่ให้เยื่อเมือก เยื่ออ่อนที่ตาติดเชื้อได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อโปรตีนไลโซไซม์มีจำนวนลดลงหรือหายไป จะมีผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือเกิดการอักเสบได้

นอกจากนี้ในการศึกษาตัวอย่างน้ำตาสุนัขป่วยโรคตาแห้งที่ได้รับการรักษาด้วยยากระตุ้นน้ำตาชนิด cyclosporine พบว่า ยากดภูมิคุ้มกันแม้จะยับยั้งการทำลายต่อมน้ำตาทำให้สุนัขสร้างน้ำตาได้เพิ่มขึ้น แต่กลับไม่สามารถทำให้โปรตีนไลโซไซม์กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสาเหตุว่า ทำไมแม้สุนัขจะได้รักษาอย่างเต็มที่แล้ว ขี้ตามีปริมาณลดลงแล้ว น้ำตาดีขึ้นแล้ว แต่คุณภาพของน้ำตาก็ไม่ได้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ และยังคงเกิดการอักเสบได้”

อ.สพ.ญ.ดร.เมทิตา กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยโครงการฯ นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาเปรียบโปรตีนในน้ำตาสุนัข ซึ่งการค้นพบชนิดโปรตีนและการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในน้ำตาสุนัขที่ป่วยเป็นโรคตาแห้ง ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นความหวังในการดูแลรักษาสุนัขให้กลับมามีดวงตาที่สดใสมากขึ้น
ส่วนการศึกษาวิจัยในเฟสต่อไปมีแผนพัฒนาต่อยอดนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาโปรตีนในน้ำตามาคิดค้นน วัตกรรมที่ช่วยรักษาโรคตาแห้งของสุนัขให้สุนัขสร้างน้ำตาที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด

“โรคตาในสุนัขมีมากมายเลย ไม่ใช่เพียงโรคตาแห้ง ซึ่งน้ำตาเป็นปราการด่านแรกที่จะป้องกันลูกตาไว้ การศึกษาโปรตีนในน้ำตายังต่อยอดไปได้อีกมาก เพื่อดูว่ายังมีโปรตีนชนิดอื่นๆ อีกหรือไม่ ที่จะศึกษาเฉพาะเจาะจงเข้าไปเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาโรคตาต่างๆ หรือแม้กระทั่งการนำโปรตีนในน้ำตามาเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ (biomarker) เพื่อวินิจฉัยและเฝ้าระวังโรคต่างๆ ในสุนัขได้ แต่ขณะเดียวกันอยากให้ผู้เลี้ยงสุนัขหมั่นสังเกตความผิดปกติของสุนัข เพื่อให้พวกเขาได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที บางครั้งสุนัขตื่นขึ้นมาอาจมีขี้ตา หรี่ตา ตาแดงหรือเดินชนสิ่งของภายในบ้าน ซึ่งดูเหมือนเป็นอาการเล็กน้อย แต่เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนพบว่าเป็นโรคตาบางอย่างที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น โรคต้อหินหรือโรคจอประสาทตาลอกหลุด เป็นต้น ดังนั้นหากตรวจพบเร็ว รักษาได้ทัน จะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีและไม่ทุกข์ทรมานจากโรคของดวงตา”

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line