บก. ปอศ เผยผลการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ปี 62

บก. ปอศ เผยผลการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ปี 62

พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในปี 2562 ได้ดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับองค์กรธุรกิจ จำนวน 469 คดี เพิ่มขึ้นจาก 395 คดี ในปี 2561 โดยมีมูลค่าการละเมิดฯ มากกว่า 464 ล้านบาท ลดลงจาก 661 ล้านบาท ในปี 2561


องค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์  ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น  อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งภายใน เป็นต้น บางรายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มี

การติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนคอมพิวเตอร์ถึง 100 เครื่อง องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีฯ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

ที่ผ่านมา บก.ปอศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านช่องทางต่างๆ เชื่อว่าองค์กรธุรกิจต่างตระหนักดีอยู่แล้วว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย แต่กลับพบว่าองค์กรธุรกิจจำนวนมากยังละเลยที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้บริหารองค์กรต้องกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย ตลอดจนความเสี่ยงอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้

ในปี 2563 นี้ เจ้าหน้าที่ฯ จะเพิ่มการสื่อสารข้อมูลกับองค์กรธุรกิจในเรื่องความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อลดอัตรา

การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด จากปี 2562 มาจนถึงขณะนี้ มีผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเข้ามาจำนวนมากกว่า 100 ราย เจ้าหน้าที่ฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและสืบสวนเพิ่มเติม

เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคจากผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้การตรวจสอบดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดย บก.ปอศ. ตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงโดยเฉลี่ย มากกว่า 3% ต่อปี และลดลงเร็วสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) องค์กรที่รณรงค์ส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เผยว่า จากปี 2561 บีเอสเอยังคงสำรวจการใช้งานซอฟต์แวร์

ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง พบกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และใช้งานซอฟต์แวร์ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ในขณะเดียวกันพบแนวโน้มการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้นในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)

“องค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือใช้ไม่ถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management : SAM) หรือมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล และขาดการบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security) ทำให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อาจทำให้ความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญรั่วไหล คู่ค้าหรือนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจด้วย และอาจเลือกลงทุนกับองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องในประเทศอื่นในอาเซียน” นางสาววารุณี กล่าวเพิ่มเติม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บีเอสเอเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงได้อย่างรวดเร็ว คือความร่วมมือจากผู้บริหารองค์กรในการกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นอย่างถูกต้อง การเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในระดับสากล รวมถึงการนำเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารองค์กร

Comments

Share Tweet Line