ผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลกประกาศจุดยืน ทำหน้าที่เพื่อประชาชน

ผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลกประกาศจุดยืน ทำหน้าที่เพื่อประชาชน

ผู้ตรวจการแผ่นดินปิดสัมมนาวิชาการนานาชาติย้ำบทบาท 1 ใน 5 เสือ กรรมการบริหารสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) หลังระดมผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลกรวมตัวประกาศจุดยืนคงความอิสระและเป็นกลาง มุ่งพัฒนาเครือข่ายขยายความร่วมมือระดับทวิภาคี และพหุภาคีทั่วทุกภูมิภาค ป้องกันประโยชน์ทับซ้อน ลดความขัดแย้งและผลกระทบจากภัยคุกคามท่ามกลางยุคดิจิทัลดิสรัปชัน 


พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 – 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จและได้ตอกย้ำบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่ต้องการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศไทยและเสถียรภาพของภูมิภาคท่ามกลางภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ ซึ่งจากการสัมมนาในหัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง : ปรับตัวอย่างไรกับความท้าทายที่เกิดขึ้น” ในประเด็นความท้าทายต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ผลกระทบและทางออก บทบาทที่มากขึ้นของโซเชียลมีเดีย ภาพลักษณ์ของผู้ตรวจการแผ่นดินในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการดำรงอยู่และเอาตัวรอดภายใต้ภัยคุกคาม รวมถึงเทคนิคการร่วมมือและการปรับตัวของผู้ตรวจการแผ่นดินในอนาคต ทั้งนี้ ทำให้ทราบถึงปัญหาและสถานการณ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินในหลายประเทศต้องเผชิญ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงต้องตรวจสอบและติดตามนโยบายและการทำงานของรัฐว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงเสถียรภาพทางการเมือง การถูกข่มขู่คุกคาม และถูกดำเนินคดี ตลอกจนการใช้ความรุนแรงกดดันจากผู้มีอิทธิพลและโซเชียลมีเดียที่ส่งผลด้านลบในกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง (Fake News) จนเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำงานและภาพลักษณ์ของผู้ตรวจการแผ่นดิน สร้างความเกลียดชังและความแตกแยกในสังคม (Hate Speech)

พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า จากการอภิปรายในเวทีนี้ สิ่งสำคัญที่ทุกประเทศเห็นตรงกัน คือ องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องยืนหยัดถึงความจำเป็นในการคงอยู่เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง โดยยึดหลักการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ เป็นธรรม และเป็นกลาง ในส่วนการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันที่การสื่อสารโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนทุกเพศทุกวัย ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องสร้างภาวะผู้นำ นำสื่อมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์เพื่อรณรงค์ผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ป้องกันผลกระทบ จัดระบบการดำเนินงานให้รวดเร็ว เหมาะสม ใช้สื่อสาธารณะและโซเชียลมีเดียปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร ติดตามข้อมูล และตอบข้อวิจารณ์อย่างรวดเร็ว พร้อมปฏิบัติการเชิงรุกในประเด็นที่สังคมคาดหวัง รวมถึงวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ กำหนดยุทธศาสตร์ ช่องทางการสื่อสาร ตัวบุคคล กลไก และหน่วยที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อสร้างระบบการติดตาม เฝ้าระวัง สื่อสาร และตอบสนองอย่างทันท่วงที 

 

ทั้งนี้ การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ตรวจการแผ่นดินในการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ใช้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นแนวทางแก้ไขความทุกข์ร้อนและความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐที่ครอบคลุมประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกอย่างเชิงรุกและสร้างสรรค์ โดยมีบทบาทในการร่วมมือกฎระเบียบระหว่างประเทศให้เกิดมาตรฐานสากล มุ่งสร้างเกียรติภูมิและอำนาจต่อรอง โดยเน้นหลักกัลยาณมิตร ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี และเพิ่มพูนผลประโยชน์ให้กับประชาชน ซึ่งล่าสุด มีการหารือกับกรรมาธิการด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน สาธารณรัฐฮังการี เกี่ยวกับการประสานความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนทั้งสองประเทศต่อไป

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line