“โรคกระดูกพรุน” สาเหตุการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ ไบโอฟาร์ม เดินสายให้ความรู้

“โรคกระดูกพรุน” สาเหตุการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ  ไบโอฟาร์ม เดินสายให้ความรู้

"โรคกระดูกพรุน"  เป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกระดูกสะโพก หากปล่อยไว้อาจทวีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคกระดูกพรุน นับว่าอยู่ในจุดที่น่าห่วง โดยจากสถิติพบว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและหลอดเหลือด


สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน นั้นมาจากการที่ร่างกายขาดแคลเซียม รวมถึงในแต่ละช่วงวัยได้รับแคลเซียมในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในวัยทารกต้องการปริมาณแคลเซียม 270 มิลลิกรัมต่อวัน  วัยเด็กต้องการปริมาณแคลเซียม 800 มิลลิกรัมต่อวัน  วัยรุ่นต้องการปริมาณแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน วัยผู้ใหญ่ต้องการปริมาณแคลเซียม  1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยตลอดช่วงชีวิตร่างกายต้องการปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน

อาจารย์นายแพทย์เทพรักษา เหมพรหมราช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมุทรสาคร  ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถิติของโรคนี้ว่า “ผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก จะมีโอกาสเสียชีวิตในปีแรกประมาณร้อยละ 20 และครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตภายใน  6 ปี  นอกจากนั้นโรคกระดูกพรุนยังก่อให้เกิดอาการปวดหลัง หลังโก่งงอ เคลื่อนไหวลำบาก หายใจลำบาก ปอดทำงานได้ไม่ดี มีอาการเหนื่อยง่าย ส่งผลให้เกิดทุพพลภาพหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด”

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกองวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ได้วิเคราะห์ปริมาณแคลเซียมในอาหารของไทย พบว่า อาหารภาคกลาง มีปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อร่างกาย   โดยมีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยต่อวันน้อยที่สุดเพียง 156 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ส่วนอาหารของภาคเหนือ มีปริมาณแคลเซียมเฉลี่ยมากที่สุดอยู่ที่  251.8 มิลลิกรัมต่อวัน  ส่วนอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เนย ชีส กุ้งแห้ง ปลากรอบ งาดำ ถั่วแดง เต้าหู้ ผักใบเขียว เช่น คะน้า ใบชะพลู เป็นต้น

สำหรับวิธีดูแลร่างกายเพื่อช่วยให้ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุน  ทีมแพทย์และเภสัชกรจากไบโอฟาร์มฯ ได้ให้คำแนะนำว่า ควรให้ความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพิ่มมากขึ้น หากยังไม่เพียงพอก็สามารถทานอาหารเสริมประเภทแคลเซียมได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ โดยไม่ควรรับประทานแคลเซียมร่วมกับยาความดันเพราะมีผลต่อการดูดซึมของยาและหากทานแคลเซียมพร้อมอาหารที่มีผักมากจะทำให้ท้องอืดได้

นอกจากแคลเซียมแล้ว ควรมีการเสริมวิตามินดีเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยในการดูดซึมปริมาณแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น โดยเราสามารถได้รับวิตามินดีโดยตรงได้จากแสงแดดและอาหารที่มีวิตามินดี เช่น ไข่แดง นม ปลาคอด ปลาแซลมอน ซาร์ดีนหรือปลาแมคเคอเรลที่นิยมนำมาผลิตปลากระป๋อง  เป็นต้น ซึ่งหากได้รับวิตามินดีและแคลเซียมอย่างเพียงพอแล้วจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากกระดูกหักได้ถึง 30% รวมไปถึงการงดบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์  สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ไม่ควรเกินวันละ 4 แก้ว  และหมั่นออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการทรงตัว เช่น การเดิน วิ่งเหยาะๆ รำมวยจีน แกว่งแขน ก็มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคกระดูกพรุนและช่วยลดความรุนแรงจากการหกล้มได้ด้วย

นายชวิศ เพชรรัตน์ ผู้จัดทำโครงการ ตู้ยาไบโอฟาร์มฯ เพื่อนคู่สุขภาพชุมชน บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด กล่าวว่า “ไบโอฟาร์มได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรม พร้อมเติมเวชภัณฑ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและชุมชนในเขตเทศบาลนครสมุทรปราการ  เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เราจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปณิธานของบริษัท ที่ไบโอฟาร์ม เพื่อนคู่สุขภาพ คู่คนไทยมากว่า 45 ปี ที่นอกจากจะมีการเติมยาให้แก่ตู้ยาชุมชนแล้ว ทางบริษัทฯ ยังได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อมาให้ความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพแก่ชุมชนอย่างถูกวิธี นับเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด”

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ผู้ผลิตเวชภัณฑ์คุณภาพชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เห็นความสำคัญของการให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน  โดยตลอด 45 ปีของการดำเนินธุรกิจ ได้จัดกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมมาย่างต่อเนื่อง   ภายใต้โครงการ “ตู้ยาไบโอฟาร์มฯ เพื่อนคู่สุขภาพชุมชน”

หมั่นให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหาร รวมไปถึงการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม  เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนได้

Comments

Share Tweet Line