กนอ.ปลื้ม“นิคมฯยางพารา”เนื้อหอม นักลงทุนแห่สนใจลงทุน

กนอ.ปลื้ม“นิคมฯยางพารา”เนื้อหอม นักลงทุนแห่สนใจลงทุน

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยนักลงทุนสนใจโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานมาตรฐานสำเร็จรูป คาดหากมีการใช้พื้นที่เต็มโครงการทั้งหมดความต้องการใช้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ตันต่อปี  ก่อให้เกิดรายได้กับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่การเปิดใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ใหม่ ที่เชื่อมระหว่างอำเภอหาดใหญ่ – อำเภอสะเดา สามารถต่อยอดการค้า-การลงทุนด้านชายแดนไทย-มาเลเซีย ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนของรัฐบาล 


นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในพื้นที่ตำบลฉลุง จังหวัดสงขลา ว่า การก่อสร้างเสร็จแล้ว 100% เมื่อเดือนเมษายน 2562 และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่ทำสัญญาซื้อที่ดินแล้ว เพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ  ผู้ประกอบการจากมาเลเซีย ผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐไต้หวัน และผู้ประกอบการในประเทศไทย เป็นต้น และกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ กนอ.จัดสรรพื้นที่รองรับในลักษณะอาคารโรงงานมาตรฐานเป็นการเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีโอกาสในการพัฒนาและเติบโตขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการซื้อยางพาราที่สูงขึ้น รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดต้นทุนในการสร้างโรงงานด้วยการเช่าพื้นที่โรงงานสำเร็จรูป

นิคมอุตสาหกรรมยางพารา เน้นการเพิ่มอุปสงค์การใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งสนับสนุนการใช้น้ำยางพาราจากเกษตรกรในพื้นที่และในประเทศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น ยางคอมปาวด์ ยางแท่ง อุตสาหกรรมจากยางน้ำข้น ประเภทถุงมือยาง ยางฟองน้ำ ยางรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“หากมีการใช้พื้นที่เต็มโครงการทั้งหมด คาดว่าความต้องการใช้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 30,000 ตันต่อปี เป็น 200,000 ตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาประกอบกิจการจำนวนมาก ในกิจการประเภท ยางรองส้นเท้า รองเท้าแตะ กรวยยางจราจร จอกนาโน ที่รองแก้วน้ำ ถุงมือ หมอนยางพารา ยางคอมปาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป”ผู้ว่าการ กล่าว

ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) ที่มีการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งครบวงจร ระหว่างอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอสะเดา ที่มีจุดสิ้นสุดที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ใกล้กับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 รวมระยะทางโครงการ 70.43 กิโลเมตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพระบบคมนาคมขนส่ง เน้นรองรับการค้า การลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้จังหวัดสงขลาด้วย

“นิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ตั้งอยู่ในตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พื้นที่จำนวน 1,248 ไร่ แบ่งโซนพื้นที่ออกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 629 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภค 619 ไร่ ซึ่งนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่จะช่วยรองรับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ โดยคาดว่าเมื่อมีการใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท” นางสาวสมจิณณ์ กล่าวปิดท้าย

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line