องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก นำประชุมผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญด้านเสือ สร้างแนวร่วมมุ่งยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก นำประชุมผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญด้านเสือ สร้างแนวร่วมมุ่งยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง

เมื่อเร็วๆนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้มีการจัดประชุมผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือ เพื่อหาแนวทางในการเสนอกฎหมายยุติการผสมพันธ์เสือในกรงเลี้ยงที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ โดยผู้ร่วมประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเสือ ผู้กำหนดนโยบาย นักการเมือง ฯลฯ


นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดงานประชุมในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการแสดงความมุ่งมั่นขององค์กรฯ ในการทำงานเพื่อสวัสดิภาพสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านสวัสดิภาพเสือในกรงเลี้ยง ที่ผ่านมาเราได้ร่วมผลักดันในประเด็นนี้ควบคู่ไปกับประเด็นด้านช้างไทยอย่างชัดเจนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราทำงานภายใต้แคมเปญ "สัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง" อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีการนำสัตว์ป่ามาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เช่น ช้าง เสือ โลมา อันส่งผลกระทบให้สัตว์ป่าเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผิดจากแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ และต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานในกรงขังไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ และการผสมพันธุ์เสือจะเป็นต้นตอของการเพิ่มจำนวนเสือในกรงเลี้ยง เพราะจะทำให้เสือต้องถูกบังคับให้ใช้ชีวิตในกรงเลี้ยงตลอดไป อีกทั้งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่าในตลาดมืด ในปัจจุบันมีกระแสต่อต้านและห้ามใช้สัตว์ป่าเพื่อการแสดงในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และทุกวันนี้นักท่องเที่ยวเองก็มีแนวโน้มที่จะเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นองค์กรฯและภาคีเครือข่ายยังเห็นพ้องร่วมกันว่าประเทศไทย จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฏหมายเพื่อยุติการใช้สัตว์ป่าเพื่อการแสดง และยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง”

นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรามีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการที่จะผลักดันนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการนำสัตว์ป่ามาใช้ในธุรกิจบันเทิง โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมายนั้น ยังเปิดโอกาสให้มีการผสมพันธุ์สัตว์ป่า เช่น เสือ เพื่อใช้สัตว์ป่าเหล่านี้เพื่อความบันเทิงอยู่ การแก้กฎหมายโดยขอการสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศ 10,000 รายชื่อนั้น จะนำมาซึ่งพลังของคนในสังคมที่จะช่วยกันปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทรมานสัตว์อย่างยั่งยืน

ผศ. ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาสำนักงานบริหารนโยบาย นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า “หากคณะทำงานมีความเห็นว่า  พระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ ศ. 2562 มีเนื้อหาบางส่วนที่ยังไม่ครอบคลุม เราก็ควรรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขตามหลักรัฐธรรมนูญ ผ่านการยื่นกฎหมายทางตรงหรือเสนอผ่านส่วนราชการ นอกจากกฏหมายหลักแล้ว ภาคประชาสังคมควรเข้าไปมีบทบาทในส่วนของกฎหมายลูกมากยิ่งขึ้นทั้งด้านการเสนอความคิดเห็น การขอเข้าพบคณะผู้ยกร่าง หรือเข้าไปมีส่วนในการพิจารณาในส่วนของ กฏกระทรวง ระเบียบ หรือ ประกาศต่างๆ ฯลฯ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line