สวรส. เร่งนำทัพวิจัยสุขภาพ ขับเคลื่อนสังคมคุณภาพ–พร้อมแข่งขันทางเศรษฐกิจ 

สวรส. เร่งนำทัพวิจัยสุขภาพ ขับเคลื่อนสังคมคุณภาพ–พร้อมแข่งขันทางเศรษฐกิจ 

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็น 1 ใน 7 หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (Program Management Unit : PMU) ที่รับผิดชอบบริหารทุนสนับสนุนงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ตาม 4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม โดย สวรส. เป็น PMU บริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและเกณฑ์ในการจัดสรรทุนวิจัยที่ตอบสนองปัญหาด้านสาธารณสุขและความต้องการของประเทศ สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่หน่วยงานที่มีภารกิจทำวิจัยบริหารจัดการงานวิจัยและส่งเสริมเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อร่วมกันดำเนินการวิจัย ตลอดจนการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรทุนบางส่วนภายใต้แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โปรแกรมที่ 9 เรื่องสังคมคุณภาพและความมั่นคง รวมถึงแพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โปรแกรมที่ 10 เรื่องยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ


ที่ผ่านมา สวรส. ได้ทำการชี้แจงการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563-2564 ในโปรแกรมที่ 9 เฉพาะประเด็นระบบการแพทย์และสาธารณสุข และโปรแกรมที่ 10 ประเด็นการแพทย์จีโนมิกส์ โดยมีรายละเอียดของกรอบวิจัยในแต่ละโปรแกรม และการรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ รวมถึงได้ระบุเกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอโครงการ โดย สวรส. จัดการพิจารณาโดยผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนาการวิจัยที่ตอบเป้าหมายและ OKR (Objective Key Result) ของแต่ละโปรแกรม เช่น คนทุกช่วงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดํารงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณค่า,สามารถจัดการปัญหาท้าทายเร่งด่วนสําคัญทางสังคมของประเทศได้อย่างเหมาะสม
ด้วยองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและนวัตกรรม, การแก้ปัญหาภาระโรคที่เป็นปัญหา 1 ใน 3 ของประเทศ, นโยบายหรือมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกที่ได้จากองค์ความรู้ที่สร้างขึ้น, ประชากรมีสุขภาพดีและพึ่งพาตัวเองได้ และลดอุบัติการณ์การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)

งบประมาณปี 2563 สวรส. ได้ดำเนินการบริหารจัดการการวิจัยตามกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) โปรแกรมที่ 9 ประเด็นระบบการแพทย์และสาธารณสุข รวม 12 โครงการ จำนวนประมาณกว่า 100 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบบริการ ระบบยา ระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ และโปรแกรมที่ 10 ประเด็นการแพทย์จีโนมิกส์ รวม 31 โครงการ จำนวนประมาณกว่า 500 ล้านบาท เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม การวิจัยเพื่อต่อยอดการใช้ข้อมูลพันธุกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การพัฒนาระบบจัดเก็บ DNA และระบบบริการหาลำดับเบสจีโนม การผลิตบุคลากรด้านชีวสารสนเทศ แพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ การสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ

การจัดทำแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการใช้ประโยชน์การแพทย์จีโนมิกส์ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Genome Data Center รองรับการบริหารจัดการ จัดเก็บ ประมวลผล และรักษาความปลอดภัยข้อมูลพันธุกรรมประชากร เป็นต้น ส่วนปัญหาสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 สวรส.
ได้แบ่งบทบาทการสนับสนุนทุนวิจัยกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย วช. จะสนับสนุนงบประมาณสำหรับวิจัยในประเด็นเร่งด่วนของเชื้อไวรัสโคโรนา เช่น การศึกษาและพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อความเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อสำหรับการเตรียมรับมือการระบาดและการแพร่ระบาดของไวรัส ส่วน สวรส. จะสนับสนุนทุนวิจัยในการแก้ปัญหาเชิงระบบ

สำหรับกรอบการบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของ PMU สวรส. ในปี 2564 ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ได้กล่าวในการประชุมการยกระดับคุณค่างานวิจัย โอกาสและความท้าทายภายใต้มุมมองของหน่วย PMU ในงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ปี 2563 ณ ม.ราชภัฎอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมาว่า สวรส. ได้กำหนดโจทย์วิจัยบนพื้นฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และประเด็นปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เช่น การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยให้มีวัคซีนและการรักษาโรคติดต่อที่กำหนดไว้เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพกับทุกคนในประเทศ การพัฒนานโยบายหรือมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก
การวิเคราะห์กำลังคนด้านสุขภาพภายใต้บริบทที่มี AI โดยครอบคลุมบุคลากรวิชาชีพ/สาขาสนับสนุนที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบาดวิทยา การศึกษาและพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ผลิตใช้เองในประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐานเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าได้ ตลอดจนการแก้ปัญหาภาระโรคที่เป็นปัญหาประเทศ เช่น มะเร็ง เบาหวาน เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นต้น

“เชื่อว่าหน่วยที่ทำวิจัยในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษา บุคลากรทางด้านสุขภาพ ฯลฯ มีศักยภาพและสามารถที่จะมาร่วมกันทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่และประเทศได้ เช่น ในภาคเหนือยังมีโจทย์ท้าทายทางสุขภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวทางการจัดการปัญหามลพิษ PM.2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า แนวทางลดการใช้ยาฆ่าแมลง การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายๆ ภาคส่วนมาร่วมคิดหาโจทย์ปัญหา วิธีการแก้ไข และเครื่องมือจัดการปัญหา ก็จะช่วยได้ผลลัพธ์ที่ช่วยคลายปมปัญหาได้” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว

ผศ.ดร.จรวยพร ได้กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับปี 2564 สวรส. จะเปิดรับโครงการ Flagship เรื่องการแพทย์จีโนมิกส์ ตามโปรแกรมที่ 10 การวิจัยและสร้าง นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เช่น กรอบวิจัยในการศึกษาด้านโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้านเภสัชพันธุศาสตร์
โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพดีด้วยเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ สามารถยืดอายุผู้ป่วยโรคมะเร็ง การป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาสาธารณสุข การลดการแพ้ยารุนแรง รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สวรส. โดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ได้ร่วมประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจบทบาทใหม่และทิศทางสำคัญของ สวรส. ตลอดจนเกณฑ์การจัดสรรทุน การบริหารจัดการงานวิจัยสู่เป้าหมายประเทศให้แก่เครือข่ายนักวิจัย/นักวิชาการ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนงานวิจัยและการเปลี่ยนแปลงสำคัญในครั้งนี้

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line