สูตรผลิตเจลล้างมือแอลกอออล์ผสมสารสกัดว่านหางจระเข้ที่เกษตรกรทำขายได้

สูตรผลิตเจลล้างมือแอลกอออล์ผสมสารสกัดว่านหางจระเข้ที่เกษตรกรทำขายได้

ด้วยจุดเด่นด้านการการรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวพรรณ นักวิจัย มทร.รัตนโกสินทร์ นำเทคนิคการสกัดว่านหางจระเข้มีประสิทธิภาพและต้นทุนถูกกว่าเดิม มาพัฒนาสูตรผลิตเจลล้างมือที่มีว่านหางจระเข้เป็นส่วนผสมที่กลุ่มเกษตกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็สามารถทำได้   พร้อมทั้งจัดทำเป็นหลักสูตรเพื่อถ่ายทอดให้กลุ่มที่มีความพร้อมต่อไป


เหตุใดเจลล้างมือแอลกอฮอล์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563  จึงกำหนดให้มีแอลกอฮอล์1*  อยู่ในปริมาณที่เกินกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร (%v/v)   และทำไมจะต้องทำให้แอลกอฮอล์ที่ปกติเป็นของเหลวต้องอยู่ในรูปแบบของเจล รวมถึงเหตุผลที่จะต้องมีการเติมสารเพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้นลงไปในผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์เหล่านี้

ผศ.ดร.ธเนศวร นวลใย  จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์  กล่าวว่า เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารที่ระเหยได้เร็วมาก ดั้งนั้นจึงต้องผสมน้ำเพื่อลดการระเหยของแอลกอฮอล์เพื่อให้แอลกอฮอล์สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สัดส่วนแอลกอฮอล์ที่สูงพอจะทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรีย หรือเกราะของเชื้อไวรัสได้ แต่ก็ไม่มากจนระเหยเร็วเกินไปก็คือประมาณร้อยละ 70   โดยเหตุที่นิยมผลิตในรูปแบของเจลก็เพราะ เนื้อเจลจะช่วยยืดเวลาให้แอลกอฮอล์ระเหยช้าลงและอยู่บนผิวหนังเราได้นานขึ้น   แต่การที่เจลแอลกอฮอล์สัมผัสกับผิวเรานานขึ้นก็มีโอกาสดึงน้ำออกจากผิวหนังเราได้มากขึ้นเช่นกัน อันทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้นได้  ซึ่งวิธีหนึ่งที่นิยมใช้คือการเพิ่มส่วนผสมที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เช่น กลีเซอรีน (glycerin) โพรไพลีน ไกลคอล (propylene glycol) และที่นิยมมากที่สุดคือสารสกัดจากธรรมชาติ  ที่ชื่อคือ “ว่านหางจระเข้”

“แต่เราพบว่าว่านหางจระเข้ที่นิยมผสมลงในผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแอลกอฮอล์จะนิยมใช้สารสกัดว่านหางจระเข้ทั้งแบบแบบผงว่านหางจระเข้ หรือเป็นน้ำว่านหางจระเข้นั้น   มีโอกาสเกิดการตกตะกอนหรือมีสีของเนื้อเจลที่ขุ่นกว่ากว่าปกติได้  ซึ่งนอกจากทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์แล้วและอาจจะทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ลดน้อยลง”

ดังนั้น  จากความสำเร็จภายใต้โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทสปาจากทรัพยากรพื้นถิ่นด้วยกลไกการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่ ที่มีโครงสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ของ มทร.รัตนโกสินทร์ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ที่สามารถพัฒนาเทคนิคการสกัดว่านหางจระเข้โดยใช้กลีเซอรีนเป็นตัวทำละลายที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ด้วยอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ทั่วไป โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การผลิตจริง และจำหน่ายสารสกัดนี้ให้กลุ่มวิสาหกิจในพื้นที่ใกล้เคียงใช้ส่วนผสมสำคัญของในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลากหลายชนิด  ทำให้ ผศ.ดร.ธเนศวร และทีมวิจัย นำสารสกัดว่านหางจระเข้ด้วยวิธีการใหม่นี้มาผลิตเป็นส่วนผสมของเจลล้างมือแอลกอฮอล์

“ปัญหาหนึ่งในปัจจุบันคือ การที่ปัจจุบันเอทิลแอลกอฮอล์ที่นำมาผลิตเจลล้างมือเป็นของที่ขาดตลาดและมีราคาสูงขึ้นมาก ดังนั้นนอกจากจะพัฒนาสารสกัดว่านหางจระเข้เพื่อใช้เป็นส่วนผสมแล้ว เรายังได้พัฒนาสูตรเจลล้างมือที่ใช้แอลกอฮอล์ชนิด ไอโซโพรพานอล มาแทนการใช้เอทิลแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย  โดยไอโซโพรพานอล เป็นหนึ่งในแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และที่สามารถใช้ในบ้านเรือนหรือในทางสาธารณสุขได้เช่นเดียวกับเอทิลแอลกอฮอล์2* แถมมีคุณสมบัติในการกำจัดแบคทีเรียและไวรัสได้ดีกว่าเอทิลแอลกอฮอล์3*  โดยสูตรการผลิตของเรานอกจากจะมีปริมาณของแอลกอฮอล์อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดคือไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร (%v/v) ที่ทำให้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสได้จริงแล้ว  ตัวสารสกัดว่านหางจระเข้ยังช่วยทำให้ผิวไม่แห้งอีกด้วย” ผศ.ดร.ธเนศวร กล่าว

จากข้อค้นพบดังกล่าว ทีมวิจัย และสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.รัตนโกสินทร์ จึงได้จัดทำ“หลักสูตรการผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่มีสารสกัดว่านหางจระเข้เป็นส่วนผสม” โดยมีทางเลือกทั้งสูตรที่ใช้ เอทิลแอลกอฮอล์และสูตรที่ใช้ไอโซโพรพานอล  ที่จะเปิดอบรมให้กับกลุ่มเกษตกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการสนใจ และได้มีการจดแจ้งในเรื่องสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง ตาม พรบ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ไว้แล้ว  รวมไปประชาสัมพันธ์ถึงหน่วยงานที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการอบรมเพื่อให้เกิดผลิตจริงในวงกว้าง    โดยสามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.รัตนโกสินทร์  โทร. 0-2441-6059 ต่อ 2420-2426 หรือ e-mail : [email protected] หรือที่ ผศ.ดร.ธเนศวร นวลใย มทร.รัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล โทร. 032-618500 ต่อ 4810-4812

Comments

Share Tweet Line