สอวช. ถก SMEs สำรวจผลกระทบจากการระบาดของ โควิด 19

สอวช. ถก SMEs สำรวจผลกระทบจากการระบาดของ โควิด 19

สอวช. ถก SMEs สำรวจผลกระทบจากการระบาดของ โควิด 19 ด้านผู้ประกอบการเสนอรัฐเยียวยา ด้านการเงิน สนับสนุนการอบรม พัฒนาฝีมือแรงงาน ช่วยลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี 


อาคารจัตุรัสจามจุรี-สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นัดผู้ประกอบการรายย่อยถกผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19  เก็บข้อมูลเตรียมจัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า กระทรวง อว. มีแนวทางที่จะจัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) สอวช. จึงได้เชิญผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ทั้งในภาคส่วนการท่องเที่ยว เกษตร ปศุสัตว์ ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค มาพูดคุยถึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว เพื่อรวบรวมผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับเสนอต่อกระทรวงในการหามาตรการช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้สะท้อนผลกระทบเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในเรื่องการบริโภคภายในประเทศที่มีอัตราที่ลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียน และเชื่อว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปจะทำให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จนกระทบถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ ในส่วนธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรและยาแม้ว่าจะมีความต้องการสินค้าของตลาด แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศต้นทาง ที่ไม่สามารถนำเข้าในประเทศได้โดยเฉพาะจากจีน ผนวกกับบรรจุภัณฑ์ประเภทหลอด หรือขวดปั๊มขาดตลาด เนื่องจากมีความต้องการสูงในการนำไปเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทแอลกอฮอล์เจล ส่งผลให้ธุรกิจอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์ลักษณะดังกล่าวได้รับผลกระทบจากบรรจุภัณฑ์ไม่เพียงพอ และผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ซึ่งจากผลกระทบเหล่านี้ ผู้ประกอบการรายย่อยคาดว่าจะได้รับผลกระทบในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายย่อยยังมีความกังวลกรณีหากมีการติดเชื้อโควิดในโรงงาน ที่อาจจะส่งผลให้โรงงานชัตดาวน์ เพราะโรงงานไม่สามารถทำงานแบบ Work from Home ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะกระทบหนักมาก

ในการหารือ ผู้ประกอบการได้เสนอมาตรการที่ต้องการได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ทั้งด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินผ่านการดูแลผู้ประกอบการและพนักงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มาตรการยกเว้นภาษีแก่ผู้ประกอบการ การให้การสนับสนุนเรื่องการให้ความรู้ อบรม พัฒนาฝีมือพนักงานเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ การจัดการคลัง การจัดการออเดอร์ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการตลาด และเมื่อจบการ Training อยากให้สนับสนุนเรื่องการให้ทุนต่อเนื่อง  นอกจากนี้ ยังอยากให้ภาครัฐมีมาตรการด้านการสนับสนุนที่ปรึกษาด้านการจัดการเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนด้านการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ผ่านการสนับสนุนทุนในสัดส่วนร้อยละ 80 - 100 เพื่อช่วยเหลือในช่วงระยะเวลาหนึ่ง 

ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการบางส่วนก็มองว่าสถานการณ์วิกฤตช่วงนี้ ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้ช่วงสถานการณ์ที่ธุรกิจชะลอตัวมาพัฒนาสินค้า การบริหารจัดการ เสริมเขี้ยวเล็บธุรกิจด้วยเทคโนโลยี  และเมื่อวันหนึ่งสถานการณ์ดีขึ้น เราจะพร้อมขึ้นยิ่งกว่าเดิม 

ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาที่ได้รับการเสนอจากผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมความรู้ การอบรม การจัดการด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นนโยบายที่กระทรวง อว. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และอยู่ในวิสัยที่กระทรวง อว. จะหามาตรการสนับสนุนได้ โดย สอวช. จะรวบรวมข้อเสนอที่ได้จากการหารือครั้งนี้ เสนอต่อที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเพื่อหามาตรการเยียวยาต่อไป

ทั้งนี้ สอวช. ได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจผลกระทบที่ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19  เพื่อที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จะรวบรวมนำไปจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวให้แก่ SMEs ทั้งในระยะสั้น และการพัฒนามาตรการสร้างความเข้มแข็งและการสนับสนุนนวัตกรรมสำหรับ SMEs ในการรับมือกับภาวะวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคต       โดย SMEs สามารถร่วมตอบแบบสำรวจได้ที่ https://www.nxpo.or.th/SME-COVID-19

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line