ชุมชนคาร์บอนต่ำ...กุญแจสำคัญ “ลดโลกร้อน”

ชุมชนคาร์บอนต่ำ...กุญแจสำคัญ “ลดโลกร้อน”

มูลนิธิโครงการหลวง และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมบนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน รวมถึงบูรณาการระหว่างหน่วยงาน จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้ชุมชนโครงการหลวงและชุมชนโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดำรงชีวิตแบบ “ชุมชนคาร์บอนต่ำ สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน”


โดย ดร.สุมาลี เม่นสิน และคณะ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ทำการค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูล ได้ว่า “วิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติธรรมชาติ...ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลก” ไม่ว่าจะเป็นการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก น้ำท่วม ฤดูกาลแปรปรวน ขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้ป่า ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม และการเกิดพายุ แม้กระทั่งการระบาดของโรคชนิดใหม่

“ใครทำให้เกิด” คำตอบคือ มนุษย์ เป็นผู้สร้างและปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศจนทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น โดยเฉพาะ

  1. ควันพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เผาป่า และเผากองขยะ
  2. การทำเกษตรที่ผิดวิธี เช่น ปศุสัตว์และนาข้าว การใช้ที่ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงการรั่วไหลระหว่างขนส่งก๊าซและน้ำมันเชื้อเพลิง การหมักของกองขยะหรือบ่อบำบัดสิ่งโสโครก
  3. การใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ
  4. การใช้ก๊าซฮาลอน (halon) ในระบบถังดับเพลิงและกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม
  5. การใช้ปุ๋ยและฉีดพ่นสารเคมีเกษตรมากเกินความจำเป็น

“ใครแก้ไข” คำตอบคือ มนุษย์ ต้องร่วมกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการปลูกป่าและต้นไม้ภายในชุมชนเพื่อช่วยเก็บกักก๊าซเรือนกระจกไม่ให้สะสมในบรรยากาศสูงจนสูญเสียสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีสที่หลายประเทศให้คำมั่นสัญญาร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (เทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) นอกจากนี้ยังตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ลำดับที่ 13 ซึ่งกำหนดให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

“ชุมชนคาร์บอนต่ำกับภารกิจระดับประเทศ” ประเทศไทยมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเหลือร้อยละ 20-25 ของการปล่อยในกรณีปกติภายในปี 2573 ตามกรอบแนวทางดำเนินงานสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนและขยายผลไปยังทุกสังคมทั่วประเทศ

“คนบนดอยช่วยลดโลกร้อนอย่างไร” มูลนิธิโครงการหลวง และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมบนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้ชุมชนโครงการหลวงและชุมชนโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดำรงชีวิตแบบ “ชุมชนคาร์บอนต่ำ สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย

1. การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ตามกระบวนการของมาตรฐานอาหารปลอดภัย

2. การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้  เช่น ปลูกป่าชาวบ้าน ป่าต้นน้ำลำธาร การวางแผนบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืชบนพื้นที่สูง

3. การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน เช่น ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนให้สวยงาม และน่าอยู่อาศัย เช่น ความสะอาด ของเสีย (ขยะมูลฝอย น้ำทิ้ง ควันไฟ) และการประหยัดพลังงาน

4. ความเข้มแข็งของชุมชนในการรองรับการเปลี่ยนแปลง เช่น วางแผนและดำเนินการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกด้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จ” ประกอบด้วย

การพัฒนาคน : 1.สร้างความเข้าใจให้สมาชิกในชุมชนเห็นความสำคัญ และพร้อมที่จะทำร่วมกัน 2.ให้สมาชิกมีส่วนร่วม “คิดวางแผน ดำเนินการ ตรวจสอบ และปรับปรุงงาน” และ 3.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็งและเสียสละ

การพัฒนางาน : 1.กำหนดกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่และลักษณะพื้นที่ 2.เริ่มทำสิ่งที่จำเป็นตามความต้องการของชุมชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัดและไม่ยุ่งยากซับซ้อน และ 3.มีแผนการพัฒนางานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง

การบริหารจัดการงบประมาณ : 1.จัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้านจากสมาชิกภายในชุมชนและหน่วยงานสนับสนุน และ 2.จัดระบบการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน

โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/54

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line