สสส.หนุนเยาวชนบ้านดอนงิ้ว ร่วมใจรวมพลังจัดการขยะ

สสส.หนุนเยาวชนบ้านดอนงิ้ว ร่วมใจรวมพลังจัดการขยะ

“เยาวชนบ้านดอนงิ้ว” ร่วมใจรวมพลังจัดการ “ขยะ” ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาบ้านเกิด เรื่องของ “ขยะ” นานวันยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และไม่จำกัดว่าจะเป็นชุมชนเมืองหรือชนบท หากไม่มีการจัดการให้ถูกต้องและเหมาะสมก็จะแก้ไขได้ยากขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาขยะให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน 


บ้านดอนงิ้ว หมู่ 2 ตำบลชัยฤทธิ์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหา “ขยะ” เพราะเป็นทางผ่านของผู้สัญจรเส้นทางถนนสายเอเชีย
ขณะเดียวกันตามเส้นทางสัญจรภายในชุมชนก็มีการทิ้งขยะไม่เป็นที่เช่นกัน ผู้นำชุมชนจึงขอความร่วมมือสมาชิกชุมชนทุกคนช่วยกันหาทางออก หนึ่งในนั้นคือ โครงการ “เยาวชนจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม” ด้วยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อช่วยสนับสนุนการจัดการขยะในชุมชนอีกหนึ่งแรง

นายณัฐวัฒน์ ภู่สุวรรณ์ แกนนำเยาวชนบ้านดอนงิ้ว เปิดเผยถึงการร่วมกิจกรรมว่าปกติเล่นกีฬาฟุตบอลในกลุ่มเยาวชนด้วยกัน โดยมีผู้ใหญ่บ้านให้การสนับสนุนและยังเป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนจิตอาสาด้วย ในกลุ่มมีเยาวชนและเด็กๆ ประมาณ 20 กว่าคน เมื่อได้รับโอกาสในการทำโครงการมาจึงจัดตั้งแกนนำวางแผน
ดำเนินการประชาสัมพันธ์ แจกแผ่นพับน้องๆ ชักชวนเพื่อนๆ ที่เล่นฟุตบอลด้วยกันให้เข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งก็ได้รับความสนใจพอสมควร “ผู้ใหญ่บ้านได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ทั้งหมู่บ้านได้รับรู้ ผู้ปกครองให้การสนับสนุน เพราะเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จากเดิมที่อยู่แต่ในบ้าน ก็ออกมาเล่นฟุตบอลหรือทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ ได้ความเพลิดเพลินและช่วยให้บ้านเราสะอาดขึ้น ไม่ทิ้งขยะเกะกะ ต่อยอดไปสู่การทำปุ๋ยหมักที่ศาลาของหมู่บ้าน ซึ่งจะมีเด็กๆ มาช่วยกันทำ”

ขณะที่ นางสาวณัฐกานต์ ภู่สุวรรณ์ น้องสาวของณัฐวัฒน์ เล่าเสริมว่าในหมู่บ้านมีแกนนำเยาวชนจิตอาสาประมาณ 10 คน เวลาหมู่บ้านมีกิจกรรมก็จะพากันมาช่วยงานในวาระต่างๆ เช่น ช่วยทำความสะอาดหมู่บ้าน เก็บขยะข้างทาง ตัดหญ้า ช่วงเทศกาลลอยกระทงก็จะรวมตัวกัน ทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติเป็นต้น
ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีการรวมกลุ่มกัน ส่วนใหญ่มีหน้าที่เรียนหนังสือและช่วยงานบ้าน ไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นเลย

“เรามีวิทยากรเป็นคนในชุมชนมาช่วยให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับขยะประเภทต่างๆ การคัดแยก การทำปุ๋ยหมัก การนำขยะมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ เด็กทุกคนมีทักษะในการคัดแยกขยะ ก็นำความรู้ที่ได้กลับไปลงมือทำที่บ้าน ขยะในครัวเรือนที่แต่ละบ้านรวบรวมก็จะเอามารวมกัน หมักเป็นปุ๋ยในถังใหญ่ ให้เป็นสมบัติส่วนกลาง ใครต้องการใช้ก็สามารถตักไปใช้กับต้นไม้หรือแปลงผักได้ ส่วนที่เป็นขวดหรือที่ขายได้ก็รวบรวมไว้ขายได้ค่าขนม” ณัฐกานต์ ขยายความให้เห็นภาพของการทำงาน

ซึ่งณัฐกานต์ ยังย้ำด้วยว่าหลังจากได้ทำกิจกรรมจัดการขยะทำให้หมู่บ้านดูสะอาดตา เป็นระเบียบกว่าเดิมอย่างชัดเจน จึงคิดจะขยายผลโดยการชักชวนเพื่อนร่วมโรงเรียนให้ทำร่วมกัน เพื่อเก็บเป็นผลงานประกอบในการสอบเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น และยังใช้ประกอบในการกู้เงินจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้อีกด้วย

ทางด้านผู้ให้การสนับสนุน นางกัญญารัตน์ ผลกาย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านดอนงิ้ว ตำบลชัยฤทธิ์ ในฐานะที่ปรึกษา ให้ข้อมูลว่าในปัจจุบันหมู่บ้านมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น เด็กและเยาวชนจะเป็นกำลังสำคัญในการขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นต่อไป เยาวชนกลุ่มนี้ไม่เคยทำกิจกรรมในหมู่บ้านมาก่อน จึงถือเป็นเรื่องใหม่ เท่าที่สัมผัสการทำงานของกลุ่มเยาวชน พบว่ามีศักยภาพและความสามารถ แต่ต้องจัดสรรบทบาทตามความถนัด ผู้ใหญ่มีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้เท่านั้น

“เด็กที่มาทำกิจกรรมกับเรา ทุกคนมีความรับผิดชอบ ส่วนใหญ่อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนพ่อแม่ออกไปทำงาน การชักชวนให้ทำโครงการเป็นโอกาสให้พวกเขาได้รวมตัวกันทำกิจกรรม ต่างๆ เด็กมีความคิด มีเป้าหมาย มีแนวทาง รู้ว่าจะทำอะไรให้หมู่บ้านได้บ้าง ทำให้รักในหมู่บ้านที่ตัวเองอยู่อาศัยมากขึ้น”

ผู้ใหญ่บ้านหญิงแห่งบ้านดอนงิ้ว ยังกล่าวอีกว่าในหมู่บ้านมีการรณรงค์เรื่องการจัดการกับขยะอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดแยก การนำเศษขยะไปทำปุ๋ยหมัก
การรักษาสภาพแวดล้อมในหมู่บ้าน ทำให้เด็กในหมู่บ้านรับรู้ความเป็นไปของหมู่บ้าน ขณะเดียวกันเด็กส่วนใหญ่ชอบเล่นกีฬาซึ่งตนคอยสนับสนุน
จึงได้ชักชวนมาทำโครงการและได้ผลเป็นรูปธรรมอย่างดี 

“เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ชอบเล่นกีฬา เราใช้กีฬานำเด็กให้เข้ามาร่วมโครงการเชื่อมโยงกันไป เรื่องการคัดแยกขยะเราทำทั้งหมู่บ้าน เวลาผู้ปกครองมา
เด็กก็จะตามมารับรู้เรื่องของหมู่บ้านไปด้วยทุกบ้านที่เข้าร่วมโครงการต้องมีถังหมักปุ๋ยชีวภาพ เราทำงานร่วมกับกลุ่มอสม. โดยทาง อบต.ชัยฤทธิ์ สนับสนุนถังหมักและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ทุกครอบครัวจะมาเรียนทำปุ๋ยหมักกับเรา จะมีการดูแลและติดตามงานเป็นกลุ่มๆ ทำให้หมู่บ้านมีปริมาณขยะลดลง”
ผู้ใหญ่กัญญารัตน์ กล่าว

กิจกรรมการจัดการขยะที่ดำเนินงานโดยเยาวชนกลุ่มนี้ จากสายตาคนภายนอกอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พลังของทุกคนในชุมชนแห่งนี้ในการร่วมกันจัดการขยะ จะถูกส่งต่อและถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ต่อไป เกิดเป็นการทำงานที่ยั่งยืน และแสดงให้เห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ในชุมชนแห่งนี้ที่พร้อมจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เพื่อบ้านเกิดของตนเอง

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line