Oracle Cloud Adjacency ความน่าเชื่อถือของการเก็บข้อมูลในสถานที่ปฏิบัติงาน

Oracle Cloud Adjacency ความน่าเชื่อถือของการเก็บข้อมูลในสถานที่ปฏิบัติงาน

Cloud Adjacency: ความน่าเชื่อถือของการเก็บข้อมูลในสถานที่ปฏิบัติงานและ ความยืดหยุ่นของการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ระบบดิจิทัลด้วยระบบคลาวด์


โดย ฮาน ชุง เฮง รองประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายงานระบบ ออราเคิลประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ญี่ปุ่นและเอเชียแปซิฟิก (JAPAC)

ปริมาณข้อมูล (Data) กำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในความเป็นจริงนั้น ข้อมูลทั้งโลกในปัจจุบันกว่า 90% ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ข้อมูลเป็นเสมือนพื้นฐานสำคัญแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยองค์กรต่าง ๆ เริ่มใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนมากขึ้น เนื่องจากเข้าใจถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากข้อมูล รวมถึงแนวทางการใช้ข้อมูลเพื่อการปฏิบัติงานที่แตกต่าง การสร้างรูปแบบธุรกิจที่แตกต่าง และการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นการปฏิวัติอุตสาหกรรมลูกที่ 4

อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ กลับเข้าถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ได้อย่างยากลำบาก เพราะโดยปกติข้อมูลจะถูกปิดล็อกไว้ในแหล่งจัดเก็บทั้งในสถานที่ปฏิบัติงานและบนระบบคลาวด์รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีการใช้งานมากขึ้นในปัจจุบัน โดยงานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ Forrester ชี้ให้เห็นว่า “73% องค์กรมีการปฏิบัติงานและกลยุทธ์การเก็บรักษาข้อมูลที่แตกต่างกัน และ 64% ยังประสบความยากลำบากในการทำงานบนโครงสร้างพื้นฐานแบบลูกผสมและหลายผู้ให้บริการ จึงไม่น่าแปลกใจที่องค์กรกว่า 70% เริ่มตระหนักว่าการทำให้ขั้นตอนการทำงานมีความเรียบง่ายนั้น มีความสำคัญอย่างมากสำหรับธุรกิจในวันนี้”

กลยุทธ์คลาวด์แบบหลายผู้ให้บริการ

เมื่อองค์กรต่าง ๆ กำลังพยายามทลายคลังแสงข้อมูลเพื่อทำให้ธุรกิจมีความเรียบง่ายยิ่งขึ้น พวกเขามักเลือกใช้ระบบคลาวด์ สาธารณะเพื่อการนี้ ระบบคลาวด์สาธารณะมีประโยชน์อย่างมากเพราะมีความฉับไวในการทำงานมากกว่า ความรวดเร็วในการตอบสนองต่อตลาด การใช้นวัตกรรมที่รวดเร็วกว่า การปรับเปลี่ยนขนาดการทำงานได้ยืดหยุ่นกว่า ความคุ้มค่าในการลงทุน กำลังการผลิตที่สูงกว่า และมีการติดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่แม่นยำ

ทว่า ระบบคลาวด์ยังคงอยู่ในช่วงแรกของการพัฒนา นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการแพร่หลายของระบบคลาวด์ในปัจจุบันยังมีอัตราน้อยกว่า 20% และในจำนวนนี้ส่วนมากใช้ในงานที่ไม่มีความสำคัญ สาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะองค์กรแต่ละแห่งมีความจำเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่แตกต่างกัน เปรียบได้กับวิธีการทำงานทั่วไปหรือเสื้อไซส์มาตรฐานย่อมไม่อาจพอดีได้กับทุกคน ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานจึงถือเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากเมื่อต้องนำมาใช้ในงานที่มีความสำคัญ เช่น แหล่งจัดเก็บข้อมูลมูลค่าสูง เป็นต้น

ดังนั้น แม้หัวหน้าฝ่ายข้อมูลจำนวนมากต่างปรารถนาผู้ให้บริการเชิงกลยุทธ์หนึ่งหรือสองรายที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานบนมาตรฐานการทำงานชุดเดียว หากในความเป็นจริง โครงสร้างพื้นฐานของวิสาหกิจในปัจจุบันกลับใช้องค์ประกอบที่แตกต่างกันในแอปพลิเคชันหลักซึ่งรวมถึงฐานข้อมูลในการทำงาน โดยแยกช่องทางกันระหว่างระบบคลาวด์สาธารณะ แหล่งจัดเก็บข้อมูลรุ่นเก่าขององค์กร และระบบคลาวด์ส่วนบุคคล ผลการสำรวจเมื่อเร็ว ๆ  นี้ของ Gartner ระบุว่า 81% ของผู้ใช้งานระบบคลาวด์สาธารณะ มีการใช้งานผู้ให้บริการคลาวด์หลายรายและใช้กลยุทธ์คลาวด์ทั้งแบบลูกผสม (Hybrid cloud) หรือหลายผู้ให้บริการ (Multi-cloud) หรือทั้งสองแบบร่วมกัน

ระบบคลาวด์แบบลูกผสมและคลาวด์แบบหลายผู้ให้บริการ

ระบบคลาวด์ลูกผสมคือ แนวคิดที่บริษัทส่วนมากรู้จักดี ซึ่งเป็นการผสานโครงสร้างพื้นฐานของบริการคลาวด์สาธารณะเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานของระบบคลาวด์ส่วนบุคคล โดยมักใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่ปฏิบัติงานเป็นตัวเดินเครื่องซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์ ในขณะที่แต่ละส่วนทำงานแยกกันอย่างอิสระ ระบบสาธารณะและระบบส่วนบุคคลจะสื่อสารกันผ่านการเข้ารหัส ทั้งผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือการเชื่อมต่อที่สร้างขึ้นเฉพาะบุคคล

ส่วนระบบคลาวด์แบบหลายผู้ให้บริการเป็นระบบคลาวด์สาธารณะ 100% โดยโครงสร้างพื้นฐานจะแผ่ขยายเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการคลาวด์รายต่าง ๆ หรือภายในภูมิภาคบนระบบคลาวด์เดียวกัน

หากพิจารณาที่ระบบคลาวด์แบบหลายผู้ให้บริการ ข้อได้เปรียบหลัก ๆ คือองค์กรและผู้พัฒนาแอปพลิเคชันจะสามารถเลือกองค์ประกอบต่าง ๆ จากผู้ให้บริการหลายรายและใช้งานเฉพาะส่วนที่ดีที่สุดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่  Gartner ประเมินว่าภายในปี ค.ศ. 2021 ราว 75% ขององค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่จะหันมาใช้กลยุทธ์คลาวด์แบบหลายผู้ให้บริการ

สำหรับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลซึ่งใช้ข้อมูลของตนเสมือนทรัพย์สิน การเลือกเฟ้นโครงสร้างระบบที่เหมาะสมถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้พวกเขาสามารถย้ายข้อมูลขององค์กรเข้าสู่บริการคลาวด์หลักได้ อาทิ การเลือกใช้รูปแบบการประมวลผลข้อมูลประสิทธิภาพสูงและบริการใหม่ ๆ ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และระบบการวิเคราะห์ขั้นสูง เพื่อสามารถสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ได้

สถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจ 

จริงอยู่ที่ภาระงานบางรูปแบบสามารถย้ายขึ้นไปไว้บนระบบคลาวด์สาธารณะได้ง่ายกว่าภาระงานรูปแบบอื่น ๆ และการใช้งานแอปพลิเคชันคลาวด์กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานการทำงานมากขึ้น หากการย้ายภาระงานเข้าสู่ระบบคลาวด์สาธารณะก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน และจะยิ่งท้าทายมากขึ้นเมื่อต้องย้ายฐานข้อมูลสำคัญไปไว้บนระบบคลาวด์สาธารณะทั่วไป เพราะการทำเช่นนี้ย่อมสร้างความเสี่ยงทางธุรกิจเนื่องจากฐานข้อมูลเหล่านั้นมีความสำคัญต่อการทำงานอย่างยิ่ง อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ในเรื่องของประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนขนาดการทำงาน ความมั่นคงปลอดภัย ปัญหาด้านอธิปไตยทางข้อมูล และผลกระทบจากความหน่วงในการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การหยุดชะงักและต้นทุนด้านการสร้างเครือข่ายที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อพวกเขาต้องพยายามทำสิ่งนี้ไปพร้อมกับการผนวกระบบคลาวด์สาธารณะบางรูปแบบเข้ากับขั้นตอนการทำงานอย่างเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกราวกับกำลังตกที่นั่งลำบากมากทีเดียว

ระบบ Cloud Adjacent Architecture   

สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ระบบคลาวด์ที่มีความยืดหยุ่นและพลังการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ในสถานที่ปฏิบัติงาน ระบบรูปแบบใหม่มีการใช้โครงสร้างแบบ “Cloud Adjacent Architecture” ซึ่งมอบโซลูชั่นทั้งสำหรับผู้ที่ยังไม่มีความพร้อมหรือยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์สาธารณะได้  

การทำงานรูปแบบนี้จะใส่ข้อมูลไว้ในฮาร์ดแวร์ที่พร้อมรองรับระบบคลาวด์อันทรงพลัง โดยสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลอื่น ๆ ทั่วโลกซึ่งใกล้เคียงกับระบบคลาวด์สาธารณะ ดังนั้นจึงช่วยให้วิสาหกิจสามารถเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงกับพันธมิตรธุรกิจรายอื่น ๆ พร้อมทั้งสามารถลดค่าความหน่วงของการรับส่งข้อมูลและต้นทุนการสร้างเครือข่ายได้โดยตรง 

ด้วยวิธีการนี้ วิสาหกิจจึงสามารถลดจำนวนศูนย์ข้อมูล ทั้งยังได้ประโยชน์จากการมีขนาดการทำงานที่เหมาะสมและความหลากหลายของบริการคลาวด์สาธารณะ โดยที่ยังคงรักษาความสามารถด้านการควบคุม ความแม่นยำ และกรรมสิทธิ์ในข้อมูลของโครงสร้างพื้นฐานในสถานที่ปฏิบัติงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างระบบรูปแบบนี้ยังมอบกลยุทธ์การทำงานให้แก่องค์กรที่กำลังเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

  • พยายามบรรลุเป้ามายทางธุรกิจและความฉับไวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดียิ่งขึ้น
  • พยายามออกนอกกรอบการดำเนินธุรกิจที่ต้องพึ่งพาศูนย์ข้อมูล (ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบหลักของระบบคลาวด์)
  • มีปัญหาเรื่องอธิปไตยทางข้อมูลกับระบบคลาวด์สาธารณะ
  • ได้ย้ายภาระงานไปไว้บนระบบคลาวด์ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาด้านการผนวกรวมการทำงานเข้ากับแอปพลิเคชันและความหน่วงของการรับส่งข้อมูล
  • มีภาระงานเฉพาะด้านที่ต้องการย้ายเข้าสู่ระบบคลาวด์อย่างสมบูรณ์
  • มีข้อกำหนดเรื่องประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนขนาด และความสามารถเฉพาะด้าน ที่ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ไม่สามารถนำเสนอได้

นอกจากนี้ โซลูชั่น Cloud Adjacent ยังใช้โครงสร้างรูปแบบเดิม ทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรเลย และดีที่สุดคือ ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้บริหารจัดการข้อมูล ทั้งการบริหารด้วยตัวเอง พันธมิตร หรือให้ผู้บูรณาการระบบเป็นผู้ดูแล ซึ่งไม่ว่าจะใครจะเป็นผู้ดูแลก็ยังมีความยืดหยุ่นในภาพรวมและลูกค้ายังสามารถควบคุมข้อมูลได้โดยสมบูรณ์

ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างคลาวด์แบบหลายผู้ให้บริการจะช่วยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ระบบดิจิทัลในอนาคต และเราคาดว่าระบบนี้จะมอบประโยชน์มากมายให้แก่ผู้ใช้งานในภาคธุรกิจต่าง ๆ

พิจารณาตัวอย่างของโครงการเมืองอัจฉริยะ เมื่อเราเริ่มใช้เซ็นเซอร์ กล้อง และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานของเมืองจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการใช้เครื่องมือในเชิงกายภาพทั้งหมด ไปสู่การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินงาน การผสานกันระหว่างโลกดิจิทัลและโลกกายภาพก่อให้เกิดเมืองอัจฉริยะซึ่งช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการระบุตำแหน่งแบบเรียลไทม์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และการใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้คนและธุรกิจต่าง ๆ ผ่านการมอบบริการรูปแบบใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งมักนำเสนอผ่านทางแอปพลิเคชัน

ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คือโครงการ “Smart Metro Grid” โครงข่ายเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย โดยการไฟฟ้านครหลวงมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตของประชาชนในเขตภาคกลาง (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ผ่านการมอบบริการสาธารณูปโภคไฟฟ้าที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอระบบ Oracle Database, Middleware, Oracle SPARC servers และ Oracle Utilities Software Solutions ซึ่งจะช่วยให้การไฟฟ้านครหลวงสามารถตรวจดูข้อมูลพลังงานไฟฟ้าทุกขั้นตอนได้แบบเรียลไทม์ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ลดต้นทุน และเร่งรัดกระบวนการทำงานในองค์กร นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถตรวจสอบการใช้พลังงานไฟฟ้าในครัวเรือนได้ผ่านระบบ Smart Grid Solution ของการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การจะทำเช่นนี้ได้ต้องสามารถบริหารความแตกต่างของข้อมูลซึ่งต้องมีหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดยแต่ละฝ่ายต่างทำงานคนละระบบและแม้แต่ระบบคลาวด์ก็ยังแตกต่างกัน หากแนวทางใหม่นี้จะนำมาซึ่งจุดแข็งที่ดีที่สุดจากทุกส่วนผ่านการใช้งานระบบคลาวด์แบบหลายผู้ให้บริการ ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยขจัดจุดอ่อนที่สำคัญในเรื่องความซับซ้อนของข้อมูล และช่วยให้โครงการต่าง ๆ สามารถเริ่มดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสร้างความแตกต่างอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของเราทุกคน

 

 

 

Comments

Share Tweet Line