องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชวนร่วมหยุดเหตุแห่งโรคระบาด ด้วยการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มให้ยั่งยืน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชวนร่วมหยุดเหตุแห่งโรคระบาด ด้วยการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มให้ยั่งยืน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ตระหนักถึงช่วงเวลาอันยากลำบากภายใต้วิกฤติโรคระบาดขั้นรุนแรง ที่ทุกคนกำลังเผชิญ และในฐานะหน่วยงานที่เชียวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ องค์กรฯจึงไม่เคยหยุดทำงานเพื่อปกป้องสัตว์ทั่วโลกและชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่างๆ หากละเลยในประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ การเปิดเผยถึงสมมติฐานของต้นกำเนิดไวรัสโควิด-19 อาจมาจากตลาดการค้าขายสัตว์ป่าเหมือนเป็นสัญญาณเตือนที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง สัตว์ป่า สัตว์ในฟาร์ม และ การติดเชื้อระหว่างสัตว์มาสู่คน ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น


นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “การเลี้ยงดูสัตว์ที่ต้องถูกกักขังอย่างแออัดยัดเยียด การตัดตอนอวัยวะส่วนต่างๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมในฟาร์มไม่เอื้อ ให้สัตว์เหล่านี้แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ทำให้สัตว์ในฟาร์มเกิดความเครียด เจ็บป่วย ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อสู่คนได้ โดยพบว่า 60% ของโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic diseases) ซึ่งหมายถึงต้นตอของโรคเหล่านั้นเกิดมาจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดหมู ไข้หวัดนก หรือโรคสมองอักเสบนิปาห์ ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ในฟาร์มทั้งสิ้น ดังนั้นหากเราไม่ต้องการให้เกิดโรคระบาดใหญ่เช่นนี้อีก เราทุกคนต้องร่วมกันเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอย่างจริงจัง”

สัตว์ในฟาร์มกว่า 5 หมื่นล้านตัวทั่วโลกถูกเลี้ยงอย่างไม่เหมาะสม ทำให้สัตว์จำนวนมหาศาล ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานพร้อมสร้างความเสี่ยงในการแพร่โรคระบาดยิ่งไปกว่านั้นการเลี้ยงโดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาด เพื่อลดอาการเครียดให้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงในที่คับแคบ ซึ่งการใช้ยาในปริมาณมหาศาลเกินความจำเป็นทำให้สัตว์เจ็บป่วยและยังก่อให้เกิดแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) โดยผลข้างเคียงนี้สามารถถ่ายทอดจากสัตว์สู่คน ทำให้การใช้ยาไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วยซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงขั้นรุนแรงและต่อเนื่องต่อสุขภาพของคน

การผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลกเติบโตขึ้นมากกว่า 5 เท่าเทียบกับเมื่อ 50 ปีที่แล้วกระบวนการผลิตอาหารเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับราคาที่ถูกลง ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มจำนวนมหาศาล แต่ด้วยรูปแบบการเลี้ยงในสถานที่ที่คับแคบและจำกัด
ทำให้สัตว์ในฟาร์มต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมาน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในที่สุด

การเพิ่มจำนวนของฟาร์มอุตสาหกรรม ยังเป็นการทำลายพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า บีบให้คนและสัตว์ป่าต้องอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราพบปัญหาที่สัตว์ป่าออกมาหาอาหารในแหล่งเพาะปลูกพืชซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชุมชน ปัญหาการจับและค้าขายสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาให้กับชุมชนและสร้างความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น

เวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอาหาร พร้อมสร้างความตระหนักและใส่ใจที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคควบคู่กับหลักมนุษยธรรมที่ยั่งยืน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะขณะนี้ได้เกิดกระแสที่ผู้บริโภคร่วมเรียกร้องให้ผู้ผลิตและห้างค้าปลีกชั้นนำระดับโลกเร่งปรับปรุงสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มทั้งระบบ เพื่อให้พวกสัตว์เหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ปราศจากโรคภัยก่อนถึงมือผู้บริโภคทุกคน นอกจากการร่วมเรียกร้องดังกล่าวแล้ว เรายังสามารถแสดงความใส่ใจในประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ เช่น ลดการบริโภคสัตว์ให้น้อยลง เลือกกินอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น

นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล กล่าวย้ำว่า “อนาคตอยู่ในมือของพวกเราทุกคน เราจึงจำเป็นต้องทบทวนวิธีปฏิบัติ ต่อสัตว์ทุกชนิด เพราะวิกฤติโรคระบาดที่มีต้นกำเนิดจากสัตว์ที่รุนแรงระดับโลกครั้งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่หากเพียงแค่ร่วมมือกัน เราก็จะสามารถทำให้วิกฤติโรคร้ายไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก”
ทางออกเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ คือ เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลกและหยุดเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมที่โหดร้าย ควบคู่ไปกับการหยุดการค้าขายสัตว์ป่าอย่างถาวร เพียงร่วมลงชื่อกับองค์กรพิทักษ์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th/mutilation/Raise-Pigs-Right
เพื่อเรียกร้องไปยังผู้ผลิต ห้างค้าปลีก และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้หยุดการทรมานสัตว์โดยการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มเพื่อสัตว์ทุกตัว เพื่อเราทุกคน และเพื่อโลกใบนี้ที่ดีขึ้น

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line