โฆษก เสมา2 เผยคุณหญิงกัลยา ปลื้มตัวเลขครูเข้าอบรมโคดดิ้ง 15 วันทะลุเกินแสนเตรียมพร้อมปั้นเด็กไทย

โฆษก เสมา2 เผยคุณหญิงกัลยา ปลื้มตัวเลขครูเข้าอบรมโคดดิ้ง 15 วันทะลุเกินแสนเตรียมพร้อมปั้นเด็กไทย

กระทรวงศึกษาธิการ—นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการภายใต้นโยบายของ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สพฐ. และ สสวท. ได้จัดให้มีการอบรมโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอนทุกระดับชั้นและได้เปิดอบรมมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เพียงระยะเวลา 15 วัน พบตัวเลขครูลงทะเบียนเข้าอบรมทะลุเกินแสน โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าอบรมทั้งสิ้นกว่า 140,000 ท่าน และเสร็จสิ้นการอบรมได้รับประกาศนียบัตรแล้วกว่าครึ่ง จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 80,000 ท่าน เตรียมพร้อมครูเพื่อนำไปสอนเด็ก เพิ่มทักษะการคิดอย่างเป็นระบบในยุคดิจิตัล


นางดรุณวรรณ กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องเลื่อนเปิดการเรียนการสอนไปเป็น 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงฯ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูผู้สอนให้มีศักยภาพโดยเฉพาะทางด้านการเรียนการสอนแบบออนไลน์ มีการคิดวิเคราะห์เป็นขั้นตอน เพื่อนำไปสอนเด็กได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมาครูบางส่วนยังไม่เข้าใจถึงวิธีการสอนโค้ดดิ้ง จึงได้จัดให้มีการอบรมครูหลักสูตรอบรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับครู (Coding for Teacher: C4T) ภายใต้นโยบาย การจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในโรงเรียน โดยได้เปิดอบรมมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และจะสิ้นสุดในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ในขณะที่การอบรมจะต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้กล่าวว่าแนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการคือจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การศึกษาต้องเข้าถึงคนทุกระดับชั้น โค้ดดิ้งเป็นภาษาใหม่ที่เด็กไทยจะต้องเรียนรู้ และเป็นนโยบายที่ผลักดันโดยตัวคุณหญิง จนได้รับการบรรจุอยู่ในนโยบายของรัฐบาลซึ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มการเรียนการสอนมาตั้งแต่เทอมที่สองของปี 2562 ในศตวรรษ ที่ 21 นี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าดิจิตัล ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเรียนโค้ดดิ้งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับเด็กตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย โค้ดดิ้งหรือภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาใหม่ที่เด็กไทยจะต้องเรียนรู้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์เสมอไปในการเรียนสำหรับเด็กชั้นอนุบาล ประถม หรือคนทั่วไปสามารถเรียน Unplug Coding ได้โดยไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์ ดังที่เคยกล่าวไว้ว่า Coding for All หรือ All for Coding

“คนที่เรียนโค้ดดิ้งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะได้ทักษะอย่างน้อย 6 ด้านคือ ทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน ทักษะในการคิดแบบสร้างสรรค์คิดวิเคราะห์ ทักษะในการคิดเชิงคณิตศาสตร์ ทักษะการมีเหตุผล และทักษะในการตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน การมีทักษะทั้ง 6 ด้านนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาคนที่สมบูรณ์แบบ ทำให้สามารถแข่งขัน และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ในยุคดิจิตัล” คุณหญิงกัลยา กล่าว

ด้าน ดร.จีระพร สังขเวทัย จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. เปิดเผยว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการแบบหลักสูตรการอบรมที่มีเนื้อหาที่สนุก น่าสนใจชวนให้ติดตาม เน้นกระบวนการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน มีตัวอย่างกิจกรรมการสอนแบบง่าย ๆ สำหรับครู หัวใจสำคัญคือการนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของแต่ละโรงเรียน เพื่อให้เด็กสามารถแก้ปัญหาได้จริงในชีวิตประจำวัน ครูที่มาสมัครเข้าอบรมไม่จำเป็นต้องเป็นครูในสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ครูในทุกสาขาวิชา ทุกระดับชั้นปี สามารถลงทะเบียนเข้ามาได้และไม่ต้องเรียนแบบเรียงลำดับชั้น หากสนใจจะลงทะเบียนอบรมในระดับชั้นไหนก็เลือกได้ตามความต้องการ โดยส่วนใหญ่ครูมักจะลงทะเบียนเข้าอบรมครบทั้ง 4 ระดับชั้น คือ ป.ต้น ป.ปลาย ม.ต้น และ ม.ปลาย และผู้ที่ผ่านเกณฑ์ 80% ขึ้นไปในแต่ละระดับชั้น จะได้รับประกาศนียบัตรที่ลงนามโดยผู้อำนวยการ สสวท. และเลขาธิการ สพฐ.

ในขณะที่อาจารย์เอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กล่าวว่าหลักสูตร Coding for Teacher หรือ C4T เป็นความภูมิใจของทั้ง สพฐ. และ สสวท. เพราะรวมเอาจุดดีทั้งสององค์กรเข้าด้วยกัน สพฐ.จะนำเรื่องของการวัดประเมินผลการเรียนรู้ และจิตวิทยาการศึกษาผนวกเข้าไปในหลักสูตรด้วย สพฐ. มีทีมออกแบบหลักสูตรที่ประกอบไปด้วยวิทยากรแกนนำ C4T ที่มีศักยภาพและผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้น มีศึกษานิเทศน์ที่จะทำหน้าที่เป็นโค้ดดิ้งเมนเตอร์ช่วยดูการเรียนการสอนว่าสนุก ตรงตามความต้องการและสื่อถึงตัวชี้วัดหรือไม่ ทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line