เบอร์เกอร์คิง ประเทศไทย ประกาศนโยบายเลือกใช้ไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรงขัง

เบอร์เกอร์คิง ประเทศไทย ประกาศนโยบายเลือกใช้ไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรงขัง

หลังเจรจากับ องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล หรือ ‘ซิเนอร์เจีย แอนิมอล’ องค์กรซึ่งปฏิบัติงานในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เบอร์เกอร์คิง หนึ่งในแฟรนไชส์อาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำระดับโลกได้ประกาศดำเนินนโยบายเลือกใช้วัตถุดิบจากฟาร์มปลอดกรงขังในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย โดยนโยบายนี้จะประกาศใช้กับร้านอาหารทั้งหมด 115 แห่ง รวมถึงที่จะเปิดดำเนินการในอนาคตทั้งหมดในประเทศภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์เบอร์เกอร์คิงแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2570 


“คำประกาศเจตนารมณ์จากแฟรนไชส์อาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างเบอร์เกอร์คิงจะมีส่วนในการช่วยลดความทุกข์ทรมานของแม่ไก่ในประเทศไทยได้นับล้านชีวิต และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลายๆ บริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะประกาศนโยบายเช่นนี้ตามมา” วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทยของซิเนอร์เจีย แอนิมอล กล่าว

ความจริงของกรงตับ

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไข่รายใหญ่เป็นอันดับสามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รายงานตามตัวเลขล่าสุด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จากกรมปศุสัตว์  ประเทศไทยมีแม่ไก่จำนวนมากกว่า 60 ล้านตัวในฟาร์มผลิตไข่ปัจจุบันแม่ไก่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยถูกขังอยู่ในกรงแคบๆ ที่เรียกว่า กรงตับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีปฏิบัติที่โหดร้ายที่สุดในการปศุสัตว์ 

แม่ไก่ใช้ทั้งชีวิตในพื้นที่ที่เล็กกว่ากระดาษ A4 ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเดินหรือกางปีกได้สุด เนื่องจากกรงที่มีจำนวนแม่ไก่หนาแน่นเกินไป การเสียดสีกับกรงทำให้แม่ไก่เสียขนเป็นจำนวนมาก การขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสมทำให้พวกเขาได้รับความเจ็บปวดจากโรคกระดูกและกระดูกหัก การเลี้ยงในฟาร์มปลอดกรงสามารถบรรเทาความทรมานของแม่ไก่ได้อย่างมาก เนื่องจากแม่ไก่จะทำพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เช่น เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ การทำรัง การจิก และการเกาะคอน

นอกจากนั้น ความปลอดภัยของอาหารในฟาร์มแบบกรงก็เป็นปัญหาที่สำคัญเช่นกัน งานศึกษาในสหภาพยุโรปพบว่ามีความเสี่ยงของการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลา (salmonella) ที่อยู่ในฟาร์มกรงสูงกว่าฟาร์มปลอดกรง ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า “คาดการณ์ว่าเชื้อ non-typhoidal Salmonella spp.  อาจทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันกว่า 93.8 ล้านกรณี และอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 155,000 รายต่อปี ประมาณการณ์ว่า 85% ของกรณีดังกล่าวนี้เกิดจากอาหาร”

ห่วงโซ่อุปทานในเอเชียกำลังเปลี่ยนแปลงไป

การดำเนินการการจัดหาไข่จากฟาร์มปลอดกรงนั้นยังค่อนข้างใหม่สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย แต่ทั้งนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 บริษัททั่วโลก ได้ประกาศนโยบายเฉพาะในการจัดหาไข่ที่มาจากแหล่งเลี้ยงปลอดกรงในห่วงโซ่อุปทาน เช่น Sodexo, Compass Group, Nestlé, และ Unilever  ต่างมุ่งมั่นที่จะหยุดการจัดหาไข่จากระบบใช้กรงขังทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้องค์กรอื่น ๆ ในประเทศไทย เช่น เทสโก้ โลตัส และ ซับเวย์ ต่างได้ประกาศนโยบายแบบเดียวกันนี้แล้ว โดยเทสโก้ โลตัส ประกาศนโยบายสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรงทั้งในประเทศไทย และมาเลเซียเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนซับเวย์ ประกาศเลิกใช้ไข่จากไก่ที่ถูกขังในประเทศไทย และในอีก 6 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ไต้หวัน และเกาหลีใต้

Comments

Share Tweet Line