“องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องผู้นำโลกยุติการค้าสัตว์ป่าป้องกันซ้ำรอยโควิด-19”

“องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องผู้นำโลกยุติการค้าสัตว์ป่าป้องกันซ้ำรอยโควิด-19”

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เปิดตัวแคมเปญรณรงค์เรียกร้องกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือ G20 ให้ประกาศยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกในการประชุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นปีนี้ เพื่อปกป้องและส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ป่าทั่วโลก ตลอดจนป้องกันโรคระบาดจากสัตว์สู่คนที่อาจเกิดซ้ำรอยได้ในอนาคต


Steve Mclvor ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่า “ธุรกิจต่างตักตวงผลประโยชน์จากสัตว์ป่าด้วยความโลภและการทารุณมายาวนาน เพื่อให้ได้ประโยชน์ส่วนตนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ได้สะท้อนให้เห็นว่าการค้าขายสัตว์ป่าไม่ใช่แค่ทำลายสวัสดิภาพสัตว์เท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติอีกด้วย ซึ่งบทเรียนหนึ่งจากโรคระบาดในครั้งนี้คือ เราต้องปล่อยให้สัตว์ป่าได้อยู่ในป่าตามธรรมชาติ เราทุกคนมีหน้าที่ต้องปรับเปลี่ยนความคิดและการปฏิบัติต่อสัตว์ป่าเสียใหม่ ไปสู่แนวทางที่สามารถปกป้องชีวิตของสัตว์ ผู้คน รวมไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมได้”

ปัจจุบันธุรกิจค้าขายสัตว์ป่าทั่วโลกมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมายที่มูลค่าถึงประมาณอยู่ที่ 7,000-23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 200,000-700,000 ล้านบาท ทางองค์กรฯ เรียกร้องผู้นำโลกให้ยุติการค้าขายสัตว์ป่าซึ่งครอบคลุมทั้ง สัตว์ป่าที่ถูกจับมาจากถิ่นที่อยู่และสัตว์ป่าที่ถูกผสมพันธุ์ในกรงเลี้ยงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า เช่น การใช้สัตว์ป่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิง การบริโภคสัตว์ป่าเป็นอาหารและยาแผนโบราณ การนำสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง การนำชิ้นส่วนสัตว์ป่ามาผลิตเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ฯลฯ โดยองค์กรฯ ได้ทำการเน้นย้ำและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง

สัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง

การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้สัตว์ป่าหลายหมื่นชีวิตทั่วโลกถูกนำมาใช้เพื่อความบันเทิง เช่น การแสดงโชว์ การนำมาให้นักท่องเที่ยวขี่ การนำมาเป็นแบบร่วมถ่ายรูป การให้อาหาร ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการฝืนพฤติกรรมตามธรรมชาติ และเบื้องหลังคือการลักลอบจับจากป่าธรรมชาติ การทุบตี ล่ามโซ่ และทารุณสัตว์ป่าด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้สัตว์ป่าได้รับความทรมานจากความเจ็บปวดและหวาดกลัว จนสามารถนำมาเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้แก่นักท่องเที่ยวได้

โลมาเป็นอีกหนึ่งสัตว์ป่า ที่ป่าคือมหาสุมทรอันกว้างใหญ่ แต่โลมาต้องถูกนำมาหาประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิงในหลายประเทศทั่วโลก ปัจจุบันคาดว่าโลมาหนึ่งตัวสามารถสร้างรายได้ถึงปีละกว่า 400,000-2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10-60 ล้านบาท ซึ่งในรอบสี่ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าชมการแสดงของโลมามากถึง 46 ล้านคนทั่วโลก

องค์กรฯ เผยข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าชมการแสดงของช้างในประเทศไทย ปีละกว่า 11 ล้านคน และราคาซื้อขายช้างเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณเชือกละ 1.5 ล้านบาทโดยเฉลี่ย

นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าสัตว์ป่าที่ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวนมากจะถูกค้าขายและผสมพันธุ์อย่างถูกกฎหมาย แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสัตว์ป่าเหล่านี้ต้องตกอยู่ในความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่สามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติ นอกจากนี้ การปล่อยให้สัตว์ป่าให้ได้ชิดกับคนก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในอนาคตได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องหาแนวทางที่ดีกว่าเดิมในการยุติการค้าและการผสมพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อการค้า เพื่อสวัสดิภาพของทั้งคนและสัตว์ป่าที่ยั่งยืน”

สัตว์ป่าไม่ใช่ยาแผนโบราณ

ความต้องการยาแผนโบราณที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สัตว์ป่าหลากหลายสปีชีส์ถูกนำมาค้าขาย ปัจจุบันตลาดยาแผนโบราณเฉพาะในเอเชียมีมูลค่าถึงกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยครองส่วนแบ่งถึง 30% ของตลาดการค้าขายยาในจีน

การทำฟาร์มเพื่อผลิตดีหมีทั่วโลกสร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อหมี สถานที่กักขังหมีอยู่ในสภาพย่ำแย่ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนได้กลับออกมาแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากดีหมีในการรักษาอาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

องค์กรฯ เชื่อว่าการยุติการค้าสัตว์ป่าจะช่วยให้หมีไม่ถูกทรมานอีกต่อไป ตลอดจนลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดในอนาคตและทางเลือกที่สำคัญในปัจจุบัน คือความสำเร็จในการนำพืชหลากหลายชนิดมาใช้แทนดีหมีในยาแผนโบราณ

สัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง

ในแต่ละปี สัตว์ป่าหลายล้านชีวิตถูกลักลอบจับจากถิ่นที่อยู่และผสมพันธุ์ในกรงเลี้ยงเพื่อนำออกไปขายเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วโลก เช่น งู นกแก้ว อีกัวนา เต่า นาก ฯลฯ คาดว่าในปัจจุบันมีสัตว์ป่าที่ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงประมาณ 17.6 ล้านตัวเฉพาะในสหรัฐฯ

รายงานขององค์กรฯ เผยว่าสัตว์ป่าที่ถูกจับมาผสมพันธุ์ส่วนใหญ่ต้องเสียชีวิตลง ก่อนจะถูกส่งไปถึงร้านค้าหรือลูกค้า เช่น นกแก้วเทาแอฟริกันที่คาดว่ามีจำนวนถึง 66% ที่เสียชีวิตก่อนถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ

การตักตวงประโยชน์ทางธุรกิจบนความทุกข์ทรมานของสัตว์ป่าส่งผลเสียทั้งต่อสวัสดิภาพของสัตว์ป่าและความปลอดภัยของมนุษย์เองด้วย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเชิญชวนผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อ เพื่อเรียกร้องไปยังกลุ่ม G20 ให้ยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกที่ www.worldanimalprotection.or.th/take-action/end-global-wildlife-trade-forever

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line