ม.มหิดล ร่วมกับ จ.นครปฐม เตรียมผลักดันสู่การเป็น"City of music" ของโลก

ม.มหิดล ร่วมกับ จ.นครปฐม เตรียมผลักดันสู่การเป็น

สถานการณ์ Covid-19 ก่อให้เกิดทั้งวิกฤติและโอกาส ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศที่รอการเยียวยาอย่างเร่งด่วน


จากตัวเลขความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ โดย องค์การท่องเที่ยวโลก ของ องค์การสหประชาชาติ ว่าส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกลดลงมากถึงร้อยละ 80 ในปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับสถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2562 พบตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยลดลงกว่าร้อยละ 76 ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ประมาณกว่า 137,000 ล้านบาท

การฟื้นฟูและพัฒนาประเทศให้เป็น "เมืองสร้างสรรค์" ตามแนวคิดขององค์การยูเนสโก จึงกลายเป็นความหวังของการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของโลกในช่วงหลังสถานการณ์ Covid-19  โดยปัจจุบันนี้มีเมืองต่างๆ ทั่วโลกเป็นสมาชิก "เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์" ขององค์การยูเนสโกแล้วทั้งสิ้น 180 เมือง จาก 72 ประเทศทั่วโลก

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันดนตรีชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความฝันอย่างแรงกล้าที่จะได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็น"เมืองดนตรี" (City of music) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สาขา "เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์" โดยการผลักดันร่วมกับจังหวัดนครปฐม

อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จังหวัดนครปฐม มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล เป็นสถานศึกษาดนตรีชั้นสูง ที่มีหอประชุมมหิดลสิทธาคาร เป็นหอแสดงดนตรีที่ดีที่สุดในประเทศไทย ด้วยระบบเสียงที่สมบูรณ์แบบ และทันสมัยที่สุด โดยเราพร้อมที่จะร่วมจัดทำแผนบูรณาการผลักดันให้จังหวัดนครปฐมเป็น "เครือข่ายสร้างสรรค์ด้านดนตรี" ซึ่งหากได้รับการคัดเลือกในระดับประเทศ จะเสนอต่อองค์การยูเนสโกให้เป็น "เมืองดนตรี" (City of music) ภายในปีหน้า ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้กับประเทศจากการเป็น "ศูนย์กลางดนตรีอุษาคเนย์" อีกด้วย

"หาก "City of music" ได้ปักหมุดอยู่ที่ประเทศไทย ต่อไป "ดนตรีไทย" จะเป็น "ดนตรีโลก" ที่ได้รับการยอมรับและรับรองโดยองค์กรระดับนานาชาติ สร้างองค์ความรู้สำหรับใครก็ตามบนโลกใบนี้ที่สนใจสามารถมาเรียนได้ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านวิชา "Ethnomusicology" ทางออนไลน์ และที่มหาวิทยาลัย ซึ่งการได้รับการรับรองเป็น "City of Music" จะเป็นบันไดให้เราก้าวสู่ระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ"

"จากสถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราทุกคนรู้ดีว่า "เงิน" ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง "คุณค่าของชีวิต" ต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกระตุ้นให้เกิด "จิตสำนึกของความเป็นคนไทย" เพื่อร่วมมือกันฟื้นฟูให้เศรษฐกิจของประเทศกลับคืนมา ด้วยการทำให้วัฒนธรรมของเราสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยพลังที่สอดประสานระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและจังหวัดนครปฐมจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศชาติมีความก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป" อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมติดตามข่าวสารและเป็นกำลังใจให้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล และจังหวัดนครปฐม เป็น "City of music" ของโลกต่อไปได้ที่ www.music.mahidol.ac.th เฟสบุ๊ค : College of Music, Mahidol University

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line