"ปรับชีวิต เปลี่ยนพฤติกรรม ฟื้นฟูร่างกายให้ไกลโรค" ของนานมีบุ๊คส์

ในช่วงนี้สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) เกือบเต็มตัว หลายคนเริ่มทำงานอย่างขันแข็ง ทั้งคนที่กลับเข้าออฟฟิศและคนที่ยังทำงานจากที่บ้าน แต่ถึงแม้จะเรียกว่าเป็นภาวะปกติ เราก็ยังต้องระมัดระวังคอยป้องกันตัวจากไวรัสอยู่ตลอด ฉะนั้น นอกจากทุ่มเทให้แก่หน้าที่การงานกันแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วย โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพใจและความเครียดที่อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เจ้าความเครียดนี้เป็นบ่อเกิดของโรคมากมายและเป็นภัยเงียบที่ทำให้ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลดลงโดยไม่รู้ตัว เพื่อลดทอนปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดในขอบเขตที่เราจัดการได้


หนังสือที่มาแนะนำในครั้งนี้จึงเกี่ยวข้องกับวิธีฟื้นฟูความผิดปกติของระบบภายในร่างกายที่มักเป็นต้นเหตุความเจ็บ ป่วยของคนยุคใหม่อย่าง “ระบบประสาทอัตโนมัติ” กัน หนังสือเล่มแรกชื่อว่า ความลับของอวัยวะทั้งห้า ผลงานของฟุจิโมโตะ ยะซุชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลร่างกายของผู้นักกีฬา นักเต้น และนักดนตรีชาวญี่ปุ่น ภายในเล่มเล่าถึงอวัยวะในร่างกายที่ทำงานสัมพันธ์กัน 5 ระบบ ได้แก่ ระบบการหายใจ ระบบประสาทและสมอง ระบบการย่อยอาหาร ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และระบบการไหลเวียนโลหิต ในระบบเหล่านี้มีอวัยวะสำคัญ ๆ ที่เราควบคุมการทำงานโดยตรงไม่ได้ ไม่เหมือนกับการสั่งให้แขนขาขยับเคลื่อนไหว นั่นเพราะ “ระบบประสาทอัตโนมัติ” ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะเหล่านั้นอยู่และเป็นระบบที่ทำให้ร่างกายทำงานอย่างราบรื่น

สิ่งที่น่าสนใจคือ คุณฟุจิโมะโตะเปรียบเทียบระบบอวัยวะข้างต้นเป็นแผนกสำคัญ ๆ ในบริษัท 5 แผนก คือ 1) ระบบการหายใจ เป็นฝ่ายบุคคลที่คอยจัดสรรบุคลากรให้ร่างกาย 2) ระบบประสาทและสมอง เป็นฝ่ายวางแผนที่ทำงานประสานกับส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม 3) ระบบการย่อยอาหาร เป็นฝ่ายผลิตที่นำอะไหล่จากภายนอกเข้ามาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์หรือร่างกายของเรา 4) ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นฝ่ายขายที่รับคำสั่งจากสมองแล้วนำไปปฏิบัติ และ 5) ระบบการไหลเวียนโลหิต เป็นฝ่ายบัญชีที่คอยรวบรวมและกระจายทุนให้แก่ฝ่ายต่าง ๆ หนังสือจึงอธิบายความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นแก่ระบบเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมและเข้าใจง่าย พร้อมแนะนำวิธีบริหารร่างกายที่ผู้อ่านทำตามได้ทันที 

ตัวอย่างหนึ่งของอาการผิดปกติที่มักพบบ่อย เช่น อาการปวดบ่า เมื่อยคอ และปวดเอว อาการนี้นอกจากเป็นผลพวงของการนั่งทำงานติดโต๊ะนาน ๆ หรือเพราะอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นผลจากการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของกะบังลมด้วย เมื่อกล้ามเนื้อกะบังลมขาดความยืดหยุ่น ย่อมส่งผลให้กล้ามเนื้อของร่างกายช่วงบนเกร็งแข็ง ความเหนื่อยล้าจึงปรากฏออกมาในรูปแบบของอาการปวดเมื่อยต่าง ๆ หนังสือ ความลับของอวัยวะทั้งห้า จึงแนะท่าบริหารอย่างง่ายให้เรานำไปใช้ได้ทุกวัน คือ การทำแบบฝึกพองแขน โดยให้เราวางมือทั้ง 2 ข้างลงบนบ่า ตำแหน่งของนิ้วกลางตรงกับแนวบ่าพอดี ส่วนนิ้วชี้กับนิ้วโป้งกดเบา ๆ บริเวณด้านหลังของบ่า จากนั้นให้เดินช้า ๆ แบบฝึกนี้ช่วยให้บุคลิกดี แก้อาการไหล่ห่อและหลังโก่ง จึงทำให้กระดูกซี่โครงเคลื่อนไหวได้สะดวกซึ่งช่วยคงความยืดหยุ่นของกะบังลมไว้ด้วย

หนังสืออีกเล่มที่ช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติให้ผู้อ่านได้อย่างดี คือ ฟื้นฟูระบบประสาทอัตโนมัติด้วยตนเอง ของ ดร.ฮิโระยุกิ โคะบะยะชิ แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุนเท็นโด ที่เล่าความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผ่านตัวการ์ตูนมากอารมณ์ขัน และฉายภาพชีวิตประจำวันที่ใครหลาย ๆ
ต้องเคยมีประสบการณ์ร่วมกันมาบ้าง ก่อนจะแนะนำเทคนิคปรับพฤติกรรมให้ระบบประสาทอัตโนมัติกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางเทคนิคเราอาจคุ้นเคยหรือปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่กลับไม่เคยรู้มาก่อนว่าทำไมวิธีดังกล่าวจึงดีต่อร่างกาย เช่น การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การยิ้มแย้มแจ่มใส หรือกระทั่งการแหงนหน้ามองฟ้าแล้วสูดหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ  

ในเล่มคุณหมออธิบายให้เราเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้สัมพันธ์กับระบบประสาทอัตโนมัติอย่างไร ลองนึกถึงเวลาที่กำลังเครียด สังเกตได้ว่าร่างกายจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว บางคนเหงื่อออก เวียนหัว เพราะความดันเพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติของร่างกายที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่สมองประเมินว่าไม่ดีต่อตัวเรา หากปล่อยให้อยู่ในภาวะนั้นนานเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะระบบประสาทอัตโนมัติทำงานภายใต้ภาวะตึงเครียด จึงยิ่งคิดอะไรไม่ออก ทำงานไม่ราบรื่น และอาจสุ่มเสี่ยงเผลอระบายอารมณ์ใส่คนรอบข้างจนกระทบเรื่องความสัมพันธ์ได้

หนังสือ ฟื้นฟูระบบประสาทอัตโนมัติด้วยตนเอง แนะนำว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการตัดวงจรของระบบประสาทอัตโนมัติ และสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ก็คือ การเงยหน้าหายใจช้า ๆ เมื่อทำเช่นนี้เราจะหายใจได้ลึกขึ้น การหายใจช้า ๆ ในอัตราส่วน 1:2 เช่น หายใจเข้า 3 วินาที หายใจออก 6 วินาที เป็นวิธีส่งสัญญาณให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานช้าลง จึงช่วยทำให้อารมณ์ของเรา “เย็นลง” เพราะเรากำลังปรับระบบในร่างกายให้กลับเข้าที่นั่นเอง

นอกจากความอ่อนล้าที่ปรากฏเป็นอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวแล้ว อาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะก็เป็นสัญญาณของโรคที่พบบ่อยของคนยุคใหม่ หนังสืออีกเล่มที่นำมาฝากมีชื่อว่า ปวดหัว เวียนหัว หูอื้อ หายได้ แค่เข้าใจสมอง เขียนโดยนายแพทย์ไล่เหรินฉง แพทย์ชื่อดังด้านหู คอ จมูกจากไต้หวัน
ภายในเล่มนี้ได้อธิบายสาเหตุของอาการปวดหัวแต่ละแบบให้ผู้อ่านจำแนกได้ว่า แท้จริงแล้วเราปวดหัวเพราะเป็นไมเกรน พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีปัจจัยอื่น ๆ
เพิ่มเติมเข้ามากันแน่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้วิธีรักษาอาการอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ เลิกพฤติกรรมซื้อยามากินเองโดยขาดความรู้ความเข้าใจและอาจเป็นอันตราย แล้วเปลี่ยนมาป้องกันไม่ให้ตนเองกลับมามีอาการวิงเวียนหรือปวดศีรษะซ้ำเพราะเราอาจเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้มีอาการดังกล่าวได้ตั้งแต่ต้น

ส่วนความเหนื่อยล้าสะสมที่มักถูกมองข้าม เพราะหลายคนคิดว่า “ยังไม่ได้ป่วยสักหน่อย แค่รู้สึกเหนื่อย ๆเท่านั้น” ในหนังสือ สุดยอดการฟื้นฟูร่างกายวิถีสแตนด์ฟอร์ด ของคุณโทะโมะโอะ ยะมะดะ นักกายภาพด้านกีฬาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจะช่วยขยายขอบข่ายความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่
“ระบบประสาทอัตโนมัติ” มีต่อร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ รับรองว่าอ่านเล่มนี้แล้วคุณจะได้แนวทางสังเกตตัวเองว่า “พร้อมลุย” หรือ “ควรพักผ่อน” ด้วยเกณฑ์ตรวจเช็ก 4 อย่าง คือ 1) ชีพจรเต้นผิดปกติหรือไม่ 2) นอนหลับมีคุณภาพหรือเปล่า 3) กล้ามเนื้อบริเวณหลังเป็นอย่างไร หลังงอ หลังแอ่น หรือปวดหลังหรือไม่ และ 4) หายใจถูกวิธีกันหรือเปล่า หากเช็กดูแล้วพบว่าตนมีแนวโน้มเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง สมองไม่ปลอดโปร่ง ดูเหมือนคุณต้องหันมาปรับพฤติกรรมอย่างจริงจังเสียแล้ว และควรปรับให้ครอบคลุมทั้งอิริยาบถ การกิน การออกกำลังกาย การนอนหลับ และการหายใจด้วย ซึ่งภายในเล่มจะอธิบายไว้อย่างละเอียดพร้อมแนะนำวิธีการง่าย ๆ ที่ใช้ได้จริงแน่นอน

การตระหนักรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอาจฟังดูเป็นเรื่องยาก วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทำกายบริหารก็ดูเป็นเรื่องเฉพาะจุด แต่ความรู้และแนวทางที่หนังสือทั้ง 4 เล่มหยิบยกมาให้ความรู้แก่เราล้วนเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและตัดวงจรการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกคนทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลร่างกายโดยไม่ต้องพึ่งพาการแพทย์เกินความจำเป็น ตลอดจนช่วย “ป้องกัน” ไม่ให้เราต้องเสียเงินทอง เสียเวลา หรือเสียใจเมื่อเจ็บป่วยเพราะพฤติกรรมประจำวันของตนเองอีกด้วย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line