มรภ.อุตรดิตถ์ลุยวิจัยพัฒนาทุเรียนหลง-หลินลับแลยกระดับเกษตรกร

มรภ.อุตรดิตถ์ลุยวิจัยพัฒนาทุเรียนหลง-หลินลับแลยกระดับเกษตรกร

หนึ่งในของดีของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่กลายเป็นของฝากขึ้นชื่อก็คือ ทุเรียนหลงลับแล และทุเรียนหลินลับแล ซึ่งจากพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 40,000 ไร่  จะเป็นทุเรียน 2 พันธุ์นี้ประมาณ 3 พันไร่ (ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนหมอนทอง)  โดยทุเรียนพื้นเมือง 2 ชนิดนี้ สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับเกษตรกรและคนในพื้นที่กว่าห้าสิบล้านบาทต่อปี


พร้อมกับชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้น ปัญหาก็ตามมา โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานทุเรียนในตลาด  ทั้งการหลอกขายทุเรียนจากแหล่งอื่นการขายทุเรียนอ่อน ขณะที่ชาวสวนทุเรียนก็ยังเผชิญกับเรื่องการขาดน้ำของต้นทุเรียน การบำรุงดิน รวมถึงโรคต่างๆ อันส่งผลต่อคุณภาพของทุเรียนที่ได้  ขณะที่การร่วมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่การเป็นการปลูกแบบวนเกษตร ก็ขังขาดข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจน 

จึงเป็นที่มาของ ขุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแล ในระบบวนเกษตร เพื่อความมั่นคงทางด้านเกษตรและอาหารของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่องนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

จากโจทย์สำคัญของชุดโครงการวิจัยเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแลและข้อมูลจากการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนกับผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ และการพูดคุยกับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร รวมไปถึงตัวแทนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากเกษตรจังหวัด และหน่วยงานด้านทรัพยากรของจังหวัด ทำให้สถาบันวิจัยและพัฒนา (สวพ.) มรภ.อุตรดิตถ์ในฐานะหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยชุดดังกล่าว จึงได้จัดสรรทุนกับนักวิจัยใน 3 ศาสตร์ คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวม 23 งานวิจัย ภายใต้ประเด็นหลักสี่ด้านคือ หนึ่ง การพัฒนาระบบสารสนเทศ  สอง การบริหารจัดการดินน้ำป่าในระบบวนเกษตร  สาม มาตรฐานคุณภาพทุเรียน และ สี่ การประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ในระบบวนเกษตรการปลูกทุเรียน

ดร.กิตติ เมืองตุ้ม รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากทุเรียนหลง-หลิน ลับแล เริ่มเป็นที่นิยมบริโภคของผู้บริโภคเมื่อไม่กี่ปีทีผ่านมา ทำให้เกษตรกรที่เริ่มปลูกทุเรียนจำนวนมาก ขาดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปลูก การดูแล การนำระบบสารสนเทศเข้าไปจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ ทั้งพื้นที่ปลูก จำนวน ผลผลิต   การใช้สารสนเทศเพื่อการศึกษาถึงปัจจัยการผลิตทุเรียนในแบบวนเกษตร   การสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ในกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่ทำให้ผู้ซื้อได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสวนของทุเรียนที่ตนเองซื้อไป  คือประเด็นวิจัยที่จะช่วยให้เกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ

นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยด้านระบบสารสนเทศเพื่อการพยากรณ์แจ้งเตือนภัยพิบัติ ที่ทีมวิจัยได้นำข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์ เช่น ปริมาณฝนที่ตก ณ เวลาปัจจุบัน ความสูงของระดับน้ำ ณ จุดตรวจวัดในแหล่งน้ำต่างๆ  รวมไปถึงข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ณ เวลาปัจจุบัน   มาผนวกกับระบบพิกัดภูมิศาสตร์ (ระบบแผนที่) ที่นอกจากมีข้อมูลพื้นฐาน เช่น ระดับความสูง ความชัน แล้ว ยังรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนในแต่ละพื้นที่ และทั้งหมดนี้ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นแอพพลิเคชั่น ที่นอกจากจะช่วยทำให้เกษตรกรสามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะมีฝนตกในสวนทุเรียนของตนเองเท่าไหร่ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินเลื่อนจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันมากน้อยแค่ไหนผ่านมือถือของตนเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันพิบัติภัย เช่น ปภ.จังหวัด ในการติดตามการเกิดไฟป่า น้ำหลาก และดินถล่ม ได้อีกด้วย

ในด้านการจัดการดิน-น้ำ-ป่าในระบบวนเกษตรนั้น เนื่องจากทุเรียนหลง-หลินลับแล เป็นทุเรียนป่าที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์โดยตัวเกษตรกร ทำให้ความรู้ในการปลูกและดูแลรักษาคือภูมิปัญญาชาวบ้าน ดังนั้นกลุ่มงานวิจัยนี้ จึงเป็นการทำงานร่วมกับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรในพื้นที่ เพื่อนำความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่เข้าไปหนุนเสริมชุดความรู้ของผู้ปลูกทุเรียนที่ประสบความสำเร็จสร้างเป็นสร้างชุดความรู้ใหม่ในกาจัดการสวนทุเรียน  อันได้แก่   ชุดความรู้เพื่อการให้น้ำ  ชุดความรู้เพื่อการจัดการดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน การจัดการนิเวศป่าวนเกษตร และการจัดการคุณภาพผลผลิต  ซึ่งนอกจากการคืนความรู้เหล่านี้ให้กับเกษตรกรที่ร่วมในกระบวนการวิจัยแล้ว ทาง มรภ.อุตรรดิถต์ ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์ ในการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับเกษตรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่อีกด้วย

และเพื่อให้ทุเรียนหลง – หลินลับแลได้มาตรฐาน มรภ.อุตรดิตถ์ ยังทำวิจัยด้านเทคนิคการหาระดับความสุกของผลทุเรียนจากยางที่ก้านทุเรียนเพื่อลดปัญหาการตัดทุเรียนอ่อน การพัฒนาช่องทางสื่อสารของผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายทุเรียน เพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของทุเรียน  รวมไปถึงการทำวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานคุณภาพทุเรียน และกลไกในการรับรองคุณภาพทุเรียนตั้งแต่สวนจนถึงแผงขาย  ผ่านการใช้ “สติกเกอร์ผลิตภัณฑ์”ร่วมกับ QR Code ที่เมื่อแสกนด้วยมือถือ ก็จะรู้ได้ทันทีว่าทุเรียนลูกนั้นมาจากสวนไหน เก็บวันที่เท่าไหร่ รวมไปถึงข้อมูลการติดต่อเพื่อแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนหากทุเรียนที่ซื้อไปมีปัญหาอีกด้วย  ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาผลตอบแทนเชิงสังคม พร้อมไปกับการประเมินมูลค่าทางสิ่งแวดล้อม ที่ได้จากการทำสวนทุเรียนแบบวนเกษตรในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เปรียบเทียบกับการผลิตในระบบเชิงเดี่ยวแล้ว ยังมีการเปรียบเทียบผลกระทบของการปลูกทุเรียนทั้งสองรูปแบบที่มีต่อระบบนิเวศ   ซึ่งผลการวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงกฎหมายและนโยบายจากกลุ่มงานวิจัยนี้ จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับที่สูง  เพื่อให้การปลูกทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแล แบบวนเกษตรของที่นี่ สามารถสร้างเศรษฐกิจและชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรและคนอุตรดิตถ์ได้อย่างยั่งยืน 

ดร.กิตติ  กล่าวว่า นอกจากเรื่องทุเรียนหลังลับแล-หลินลับแล ที่จะมีการทำวิจัยเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่องแล้ว ในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยมีแนวทางที่จะขยายการวิจัยไปสู่พืชเศรษฐกิจอื่นๆ  เช่น ลองกอง  และพืชพื้นถิ่น เช่น กล้วย กาแฟ อีกด้วย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line